สร้างมาตรฐานอาชีพด้านท่องเที่ยว


สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผนึกกำลังกับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำมาตรฐานอาชีพด้านการท่องเที่ยว ตอบรับนโยบายรัฐที่มุ่งผลักดันไทยเป็นฮับด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ตั้งเป้าออกหนังสือรับรองมาตรฐานวิชาชีพให้ได้ 20,000 ราย ภายในปี 61 เพิ่มโอกาสให้บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถเติบโตได้ในสายวิชาชีพ มุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศ
ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ( องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเผยว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและมีอำนาจหน้าที่ในการรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงมีอำนาจหน้าที่ในการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพแก่บุคคลที่ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพที่สถาบันกำหนด โดยมีเจตจำนงที่จะพัฒนาความร่วมมือกันในทางสร้างสรรค์ตามที่จะมีการเจรจากันต่อไป บนพื้นฐานที่จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในสาขาวิชาชีพต่างๆ
ซึ่ง สคช. กับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน โดยจะร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการต่อกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทย ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพที่มีการตกลงร่วมกัน คือ ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญโดยตรง จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะแต่งตั้งผู้แทนของแต่ละฝ่ายในการประสานงานหรือเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ และจะประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ทำร่วมกันให้เป็นที่รับรู้และยอมรับของทุกภาคส่วนเป็นลำดับต่อไป โดยทาง สคช . ตั้งเป้าออกหนังสือรับรองให้ได้ 20,000 รายภายในปี 2561
“คนที่ทำงานในธุรกิจนี้มาหลายๆ ปี เช่น แม่บ้าน พนักงานต้อนรับในโรงแรม แต่ไม่เคยมีโอกาสที่จะได้รับการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ การได้ฝึกทักษะเพิ่มเติมด้านภาษา จะช่วยยกระดับและเพิ่มโอกาสให้แรงงานเหล่านี้ ให้มีความสามารถในการเติบโตในวิชาชีพได้ โดยแรงงานระดับนี้ เรามีประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีความได้เปรียบในเรื่องภาษา แต่เรามีจุดแข็งในเรื่อง ความเป็นไทยที่นานาชาติชื่นชมและให้การยอมรับ” ดร. นพดล กล่าว
ด้านนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีบทบาทในการเป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการประสานงานอย่างมีระบบ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน ในการส่งเสริมให้มีระบบการรับรองคุณภาพ ระบบมาตรฐาน และระบบประกันคุณภาพของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการสำหรับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณเพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีการพัฒนาก้าวหน้า อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงและเป็นอีกหนทางหนึ่งในการพัฒนาและสนับสนุนบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ให้มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเทียบเท่ากับระดับอาเซียนและก้าวสู่ระดับสากลในอนาคตอันใกล้นี้
“ ปัจจุบัน บุคลากรด้านการท่องเที่ยวมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน เราทำคุณวุฒิวิชาชีพมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีบางอาชีพที่ยังไม่ได้รับการรับรอง หรือกระจายอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะการที่รัฐบาลให้ความสำคัญการท่องเที่ยวชุมชน จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคนเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ยังเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาพรวมการท่องเที่ยวอีกด้วย ในส่วนของบุคลากรระดับสูงในธุรกิจด้านโรงแรมหรือ เชฟ ที่ประสงค์จะทำงานในโรงแรมที่เป็นเชนต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป ก็จะสามารถเคลื่อนย้ายกำลังคนไปทำงานในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นถ้ามีใบรับรองจาก สคช. และทางสมาคม ฯ จะใช้เครือข่าย สมาชิก ผู้ประกอบการที่เรามีอยู่กว่าล้านคน ผลักดันให้บุคลากรด้านนี้ได้รับหนังสือรับรองให้ได้ถึง 20,000 ราย ภายในปี 2561 ตามที่ สคช. ตั้งเป้าไว้” นายอิทธิฤทธิ์ กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น