จับตาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ หวั่นฉุดกำลังซื้อความเชื่อมั่นทรุด

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ปรับตัวดีขึ้นแตะ 75 จับตาราคาพืชผลการเกษตรยังตกต่ำหวั่นฉุดกำลังซื้อ แนะรัฐอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นภูมิภาค ด้านศูนย์วิจัยกสิกรปรับจีดีพีปีนี้เป็น 3.7% หลังส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยหนุน คลังเร่งดันเศรษฐกิจระดับจังหวัดหนุนภาพรวมโตฉลุย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.2560 อยู่ที่ 75.0 เพิ่มจาก 74.5 ในเดือน ส.ค.2560 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งมีปัจจัยมาจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มาก เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดโรงงาน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อไม่คล่องตัว

“ประเมินว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 เพราะคนเริ่มมั่นใจเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 เช่นเดียวกัน โดยทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ที่ 3.6% และสอดคล้องกับที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับเพิ่มขึ้นมา โดยศูนย์ฯ จะประกาศตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งสัปดาห์หน้า

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ปี 2560 อยู่ที่ 3.7% จากเดิมคาดอยู่ที่ 3.4% จากการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.8% สูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวเฉลี่ย 3.5% จากภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้ในระดับสูง ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการส่งออกทั้งปีนี้มาอยู่ที่ 7% รวมถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมา ขณะที่ การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวได้ในครึ่งหลังของปี ท่ามกลางงบกลางปีที่ค่อยๆ ทยอยออกมา

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงทุกภาคส่วน ไม่ให้เกิดกระจุกตัวอยู่ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญ หรือผู้ประกอบการนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการรักษาสมดุลการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคในระดับจังหวัด เพื่อให้การเติบโตเป็นแบบหน้ากระดานผ่านการจัดทำงบประมาณ ระดับกลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ.

ร่วมแสดงความคิดเห็น