ตามรอยพ่อในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านดอนเปา

เส้นทางตามรอยพ่อในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่นายหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้เคยเสด็จมาและยังได้
พระราชทาน “ศาลารวมใจ” ไว้ให้ชุมชน ซึ่งในสัปดาห์นี้ เราออกเดินทางมากันที่ อำเภอแม่วาง ของ
จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมสัมผัสเรียนรู้ในวิถีชุมชนบ้านดอนเปา
บ้านดอนเปา ตั้งอยู่ หมู่ 4 ตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าในบริเวณป่า
ที่เป็นที่ดอน (เนิน) มีต้นเปาน้อยใหญ่อยู่มาก บริเวณแห่งนี้ จึงเรียกว่า “วัดสันคะยอมดอนเปา” จากนั้น
หมู่บ้านสันคะยอม ต่อมาตัดคำว่า “สันคะยอม” ออกไป คงเหลือแต่คำว่า “ดอนเปา” ปัจจุบันไม่มีใครเรียก
“วัดสันคะยอมดอนเปา” ไม่มีใครเรียกบ้านสันคะยอมเหมือนเช่นอดีต คงเหลือไว้เพียงแค่ “บ้านดอนเปา”
มาจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีพอเพียงบ้านดอนเปา เราเริ่มต้นกันที่ “วัดดอนเปา” บริเวณหน้าวัด
ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ต้นฉ่ำฉ่าอายุนับร้อยปี วัดเก่าแก่คู่เคียงบ้านดอนเปามาเนิ่นนาน กราบสักการะพระประธาน
ชมพระไม้โบราณ พระเจดีย์ประจำ 12 ราศี เพื่อเป็นสิริมงคลชัยในชีวิต
ถัดมาชม “ศาลารวมใจ” ศูนย์กลางรวมใจรักสามัคคีของคนในชุมชน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2519
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้าง “ศาลารวม” ใจขึ้นมา อาคารทรงไทยสีดำ
เพื่อใช้เป็นที่ให้ความรู้ โดยเปรียบเสมือนห้องสมุด และที่รักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแล 2 คน ต่อมาสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงโปรดให้สร้างโรงทอผ้าไว้ เพื่อให้ชาวบ้าน
ได้มีอาชีพเสริมหลังจากการทำนา ทำสวน จึงส่งผลให้ความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านดีขึ้น
ภายในอาคารมีกลุ่มผู้สูงอายุรวมกลุ่มประดิษฐประดอยงานใบตอง ให้นักท่องเที่ยวได้ เรียนรู้
การประดิษฐ์ ประดอย การทำบายศรี พวงมาลัย งานใบตอง จากแม่ครูผัน จี๋โปทา สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา
กลุ่มสตรี ที่กำลังตั้งอกตั้งใจปักผ้าด้วยด้ายหลากสีสันละเอียดละออ ที่กว่าจะสำเร็จเป็นผืนภาพ
อันสวยงาม ภาพปักของชาวบ้านที่กำลังปักภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ที่สร้างความภาคภูมิใจอันหาที่สุดมิได้ของชุมชน
พักเที่ยงกับอาหารท้องถิ่น เมนูพื้นบ้านที่น่าลิ้มลอง “ข้าวหมี่-ข้าวหมี่ขนมเส้น” เมนูเส้นขนมจีน
และเส้นหมี่ผัดใส่ซีอิ้วห่อด้วยใบเปา และชิมของทานเล่น “กระบองทอด” โดยใช้มะละกอหั่นบางชุปแป้งทอดกรอบอร่อย
ช่วงบ่ายชมกลุ่มงานแกะสลัก ของสล่า นายทองใบ มาตา งานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยทักษะ ความชำนาญ ความเพียรพยายามของสล่า ที่รังสรรค์ท่อนไม้กลายเป็นผลงานอันงดงามวิจิตรบรรจง เช่น ช้าง พระพุทธรูปปางต่างๆ รูปเหมือน
ถัดมาชมโรงทอผ้าพระราชทาน โดยมี นางจันทร์แดง ตาเรือน ผู้ทอผ้าและดูแลโรงทอทอผ้าพระราชทาน อาคารโรงทอผ้าพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถ ในงานทอผ้าไหม และผ้าฝ้าย
แบบยกดอก ลำพูน โดยผ้าทุกชิ้นได้ถูกจัดจำหน่ายที่ร้านจิตรลดา นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชม และเรียนรู้การทอผ้าได้
ออกเดินทางมายัง “ศูนย์หัตถกรรมร่มโบราณบ้านดอนเปา” แหล่งเรียนรู้หัตถกรรมการผลิต
“จ้องแดง” เอกลักษณ์ของจ้องแดงแม่วาง ด้านในจะร้อยด้วยไหมแข็งแรง ทนทาน หลากสีที่สวยงาม สามารถป้องกันน้ำ และแสงแดดได้จริง

จุดสุดท้ายของการพึ่งพาตนเองของ “กลุ่มวิสาหกิจหัตถกรรมบ้านดอนเปา” ที่รวมกลุ่มแม่บ้าน
ร่วมผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จจรูป หมวก ที่นอน เบาะรองนั่ง หมอน ผ้านวม สบู่ และน้ำยา
ล้างจาน สินค้าดีในชุมชนและราคาประหยัด ในระยะสั้น ๆ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายของ
ผลสัมฤทธิ์ของหลักปรัชญาวิถีพอเพียง
การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง และแยกเข้าทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 1013 ที่หน้าตลาดอำเภอสันป่าตอง มีรถยนต์โดยสารประจำทางจากประตูเชียงใหม่ อ.เมือง
เชียงใหม่ บริการทุกวัน ระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอแม่วาง ประมาณ 37 กิโลเมตร
ติดต่อสอบถาม บ้านดอนเปา ม. 4 ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ 50360 นางบุญเรือน เตจา
โทร.053-830383, ศูนย์หัตถกรรมร่มโบราณบ้านดอนเปา โทร.084-0409471,วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมบ้านดอนเปา โทร.083-1561088

ร่วมแสดงความคิดเห็น