ผู้ใช้มือถือแห่ร้องเรียนกสทช. บริการส่งข้อความสั้นมากสุด

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจาก กสทช. ชุดแรกได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 6 ปีเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ อย่างไรก็ดี กสทช. ชุดแรก จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปพลางๆ ก่อน หรือไปจนกว่าได้กรรมการชุดใหม่

ด้านการทำงานของกสทช.ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมมาโดยตลอด ใน 2560 พบว่ามีปัญหาร้องเรียนเรื่องบริการส่งข้อความสั้น (SMS) มากที่สุด หรือการคิดค่าบริการทั้งที่ไม่ได้สมัคร จากเดิมที่เคยเป็นเรื่องการส่งข้อความโฆษณารบกวนก่อความรำคาญ

“ในปี 2558 มีเรื่องร้องเรียนกรณีนี้เพียงร้อยราย แต่เพิ่มเป็นกว่าสองร้อยรายในปีถัดมา และในปีนี้พุ่งสูงถึงกว่าห้าร้อยรายแล้ว”

สำหรับเรื่องนี้กสทช. ได้หามาตรการป้องกันด้วยการออกประกาศ กสทช. กำหนดชัดเจนว่า การส่ง SMS โฆษณาที่ผู้บริโภคไม่ได้บอกรับและการคิดค่าบริการในบริการที่ผู้บริโภคไม่ได้สมัคร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย พร้อมพัฒนาเลขหมาย *137 เพื่อระงับบริการเหล่านี้ ซึ่งได้ผลอยู่ช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคหลายรายแจ้งว่า ปัจจุบันแม้จะกด *137 ก็ยังได้รับ SMS ทุกวัน ซึ่ง กสทช.ชี้แจงว่า กฎหมายสัญญาจะมีผลต้องมีการเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน การจะคิดค่าบริการโดยอ้างว่าส่ง SMS ไปถึงผู้บริโภคแล้ว หากผู้บริโภคไม่เคยสมัครบริการ ก็คิดค่าบริการไม่ได้อยู่ดี ส่วนเงินที่หักเงินไปแล้วต้องคืนผู้บริโภคทั้งหมด และถึงผู้บริโภคจะเผลอสมัครโดยไม่ตั้งใจ ก็สามารถยกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ ขณะที่ค่ายมือถือมักจะอ้างว่าต้องติดต่อยกเลิกกับผู้ส่งข้อความเอาเอง ซึ่งไม่จริง เพราะค่าบริการเหล่านี้หักผ่านบิลค่าโทรศัพท์ ซึ่งคู่สัญญาหลักคือค่ายมือถือ
นพ.ประวิทย์กล่าวว่า ในกรณี SMS นี้ เกิดจากการเป็นคู่ค้าระหว่างค่ายมือถือกับ Content Partner หรือ Content Provider (ผู้ผลิตเนื้อหา)เช่น ค่ายเพลง สำนักข่าว หมอดู หรือผู้ผลิตคลิปบันเทิงต่างๆ และมักจะแบ่งรายได้กันฝ่ายละครึ่ง การที่ปัญหานี้ลุกลาม เกิดจากการใช้ข้อความกำกวมกับผู้บริโภค เช่น ทดลองใช้ฟรี 7 วัน เมื่อผู้บริโภคต้องการทดลองใช้ กลับถือว่าเป็นสมัครบริการเลย

นอกจากนี้มีการส่งเว็บลิงค์มาทาง SMS ให้ผู้บริโภคกดเข้าไปดู โดยอาจแจ้งว่าคลิกดูลิงค์ฟรี แต่คลิกแล้วถือว่าเป็นการสมัครบริการเช่นกัน

“ที่แย่สุดๆ คือ การโทร.เรียกสายเข้ามาแล้วรีบวางสายเพื่อให้ผู้บริโภครับสายไม่ทัน และเมื่อโทร.กลับไปหา ก็ถือว่าเป็นการสมัครบริการ โดยอาจมีข้อความเทปเสียงผ่านโทรศัพท์ว่า ขอบคุณที่สมัครใช้บริการ โดยที่ผู้โทร.ไปปฏิเสธอะไรไม่ได้เลย กรณีหลังสุดนี้ในต่างประเทศเรียกว่า Missed Call Scam ซึ่งในระยะหลังมิจฉาชีพในหลายประเทศพัฒนาเป็นระบบดูดเงินผู้บริโภคโดยไม่เกี่ยวข้องกับค่ายมือถือก็มี” นพ.ประวิทย์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น