มาเลย์แชมป์ เงินสะพัด ค้าชายแดน

ตลาดค้าชายแดนไทยยังพุ่ง หลังมูลค่าทะลุ 8 แสนล้าน คาดแนวโน้มยังดีต่อเนื่อง เปิดบัญชีตัวเลขพบมาเลเซียแชมป์ค้าชายแดนกับไทยสุงสุด รองลงมาได้แก่ลาว เมียนมา และกัมพูชา ตามลำดับ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 9 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าสูงถึง 800,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 489,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.67% และการนำเข้ามูลค่า 311,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.59% เกินดุลการค้ามูลค่า 178,036 ล้านบาท โดยคาดว่าแนวโน้มการค้าชายแดนปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการส่งออกภาพรวมที่ 9 เดือนขยายตัวได้สูงถึง 9.3%

ทั้ งนี้ การค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ พบว่า เป็นการค้ากับมาเลเซียสูงสุด มูลค่า 420,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.34% เป็นการส่งออกมูลค่า 237,268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.08% นำเข้ามูลค่า 183,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.05% สปป.ลาว มูลค่า 150,322.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% เป็นการส่งออก 95,645 ล้านบาท ลดลง 4.69% นำเข้า 54,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.39%, เมียนมา มูลค่า 136,984.77 ล้านบาท ลดลง 2.75% เป็นการส่งออก 82,496 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.39% นำเข้า 54,488 ล้านบาท ลดลง 8.42% และกัมพูชา มูลค่า 92,678.14 ล้านบาท ลดลง 0.07% เป็นการส่งออก 73,866 ล้านบาท ลดลง 3.11% นำเข้า 18,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%

นายอดุลย์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางพารา น้ำมันเชื้อเพลิง และผ้าผืน ซึ่งมีสัดส่วน 42.62% ของมูลค่าการส่งออกทางการค้าชายแดน ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าปัจจัยการผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้านนำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าส่งออกต่อไปยังสหรัฐ และสหภาพยุโรป

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วน 12.66% ของมูลค่าการส่งออกทางการค้าชายแดน พบว่า การค้ากับเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา มีบางส่วนได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็ง เพราะการค้าชายแดนชำระสินค้าด้วยเงินบาท ผู้ซื้อของประเทศดังกล่าว เมื่อนำไปจำหน่าย โดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยแพงขึ้นบ้าง เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง แต่สินค้าไทยได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพที่ดีกว่า ผู้บริโภคประเทศเพื่อนบ้านให้การยอมรับ จึงไม่มีปัญหาที่จะซื้อสินค้าไทย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น