หนึ่งเดียวในล้านนา “ประเพณีลอยโขมด” ที่ต้นธง ลำพูน

ขอเชิญนักท่องเที่ยว เที่ยวงาน “ประเพณีลอยโขมด” ต.ต้นธง หนึ่งเดียวในล้านนา หนึ่งเดียวในโลก จัดโดย ทต.ต้นธง ร่วมกับ สภาวัฒนธรรม ต.ต้นธง และประชาชน ต.ต้นธง ทุกหมู่บ้าน โดย ประเพณีลอยโขมด หนึ่งเดียวในล้านนา หนึ่งเดียวในโลก ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2560 จะมีขึ้นในวันพุธที่ 1 พ.ย. ณ บริเวณท่าน้ำวัดรมณียาราม (วัดกู่ละมัก) ต.ต้นธง อ.เมือง จ. ลำพูน เริ่มตั้งแต่เวลา 07:30 น. และมีพิธีเปิดงานเวลา 18:00 น.

โดยประเพณีลอยโขมดนั้น หรือประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนา ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ 14 ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัย ได้มีประเพณีเดือนยี่เป็ง และทำพิธีลอยโขมดแล้ว มีการจัดแต่งเครื่องสักการะบูชาใส่กระทง จุดธูปเทียนและนำปล่อยลงในน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาขึ้นวับๆ แวมๆ มองเห็นเป็นเสมือนแสงพะเนียงไฟผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียก ผีป่า ที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนา จึงเรียกว่า ลอยโขมด

จากตำนานโยนก และตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ.1490 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชย ได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญชัย ไปอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธัมมวดี และต่อไปยังเมืองหงสาวดีเป็นเวลาถึง 6 ปี

ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว หลายคนก็มีครอบครัวใหม่ที่นั่น และเมื่อทราบข่าวว่าอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงพากันเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปี ที่ได้จากพี่น้องที่เมืองหงสาวดี จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง น้ำแม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น