ชูเมืองมังกร ตลาดหลัก เที่ยวทั่วไทย

ททท. ยังถือมังกรเป็นตลาดใหญ่ ปี 2561 วางเป้าเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวจีนสำหรับปีหน้าไว้ที่ 5% เป็น 10 ล้านคน และสร้างรายได้ 5.61 แสนล้านบาท หรือเติบโต 10%

นายสันติ ชุดินธารา รองผู้ว่าการ ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ทิศทางของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปี 2561 ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศจีนสูงมาก เพราะถือว่าเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งมองจากภาพรวมตลาดจีนปีนี้เติบโตดี โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยที่ราว 9.5 ล้านคน หลังจากพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกมีการเติบโตที่ดี และยังเห็นสัญญาณดีต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวจีนเติบโตมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว

จากการเก็บสถิติ ในช่วง “โกลเด้น วีค” หรือช่วงหยุดยาววันชาติจีน จำนวน 7-8 วัน เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มียอดชาวจีนมาเที่ยวไทยเกือบ 3 แสนคน ประกอบกับยอดจองล่วงหน้าโรงแรมและบริษัทนำเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ก็ดีมาก เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว

สำหรับ 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลบวกต่อตลาดจีนอย่างมาก คือ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ระหว่างไทยกับจีน เพราะตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวได้กลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปแล้ว

ในความร่วมมือระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ พบว่าไม่มีปัญหาระหว่างกันเลย รัฐบาลจีนมีนโยบาย “ไฟเขียว” ให้ชาวจีนมาเที่ยวไทยอย่างเต็มที่ ขณะที่ไทยเองก็เป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยว ติด “ท็อป 3” รองจากญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ไปแล้ว

“ท่องเที่ยวได้กลายเป็นหนึ่งในความร่วมมือ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปแล้ว ไม่ใช่แค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว”

ส่วนอีกปัจจัยคือ “การแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ” ของประเทศไทย โดยทางด้าน “พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมงานโรดโชว์ ทำความเข้าใจและให้ข้อมูลแก่รัฐบาลจีนกับบริษัทนำเที่ยว รัฐบาลจีนจึง “ไฟเขียว” ให้บริษัทนำเที่ยวในจีนทำ “ทัวร์คุณภาพ” อย่าทำทัวร์ศูนย์เหรียญซึ่งปัจจุบันราคาทัวร์คุณภาพอยู่ที่ประมาณ 5,000 หยวน (ราว 25,000 บาท) ต่อคนต่อทริป

ขณะที่ทัวร์ศูนย์เหรียญ ราคาที่เห็นโปรโมตขายกันมากอยู่ที่ 999 หยวน (ราว 5,000 บาท) ต่อคนต่อทริป
ล่าสุด บริษัทนำเที่ยว “ไชน่า แทรเวล เซอร์วิส” หรือ “ซีทีเอส” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวต่างประเทศ(เอาต์บาวนด์) เพิ่งมาเปิดสำนักงานที่ไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจีนได้สั่งการให้ทางซีทีเอสเป็น “หัวหอก” ในการทำทัวร์คุณภาพมาประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมีลูกค้าชาวจีนซื้อแพ็กเกจทัวร์มาไทยกับซีทีเอส ติดหนึ่งใน “ท็อป 5” ของบริษัทนำเที่ยวที่ทำตลาดจีนเที่ยวไทยมากที่สุด

ซีทีเอสได้หารือกับ “ททท.” ว่าอยากลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (เอ็มโอยู) เกี่ยวกับการทำทัวร์คุณภาพ โดยเตรียมเซ็นเอ็มโอยูกันที่งาน “ไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แทรเวล มาร์ท” (CITM) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน หลังจากนั้นก็เตรียมทำแพ็กเกจทัวร์คุณภาพร่วมกัน ส่งให้บริษัทลูกของซีทีเอสในแต่ละมณฑลของจีนนำไปเสนอขาย

สำหรับแนวทางการทำตลาดจีนในปี 2561 วางเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจีน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีนี้ ส่วนรายได้เติบโต 10% โดยเฉพาะจากกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟ.ไอ.ที.) ขณะที่กรุ๊ปทัวร์ยังเดินทางเข้ามาแต่ไม่ค่อยเติบโตเท่าไหร่

และสิ่งที่อยากบุกในตลาดจีนคือ การขายสินค้าท่องเที่ยวไทย ภายใต้แนวคิด “ไทยแลนด์ เอ็กซ์คลูซิวิตี้” (Thailand Exclusivity) มากขึ้น เน้นโปรโมตให้มาท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดเล็ก จำนวนประมาณ 6-8 คนกำลังดี เข้าทำนอง small but exclusiveโดยมีแพ็กเกจโรงแรมที่ได้คุณภาพมาตรฐานรองรับ และมีมัคคุเทศก์คอยให้ความรู้ และข้อมูลคุณภาพ เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวกระแสหลัก (เมนสตรีม) ไม่ค่อยไปกัน
ทั้งนี้ จะนำแนวคิดดังกล่าวไปหารือกับภาคเอกชน เพื่อร่วมกันโปรโมตให้ตลาดจีนรับรู้และสนใจ โดยนำร่องใน 5 เมืองหลักที่ ททท. มีสำนักงาน ทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว คุนหมิง และเฉิงตู ว่าลองมาเที่ยวประเทศไทยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพราะมีสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ รองรับ อย่าไปแต่แบบ mass อย่างเดียว เช่น เส้นทางพัทยา ที่ขายกันซ้ำ ๆ ลองไปเที่ยวพวกเมืองรอง หรือสินค้าใหม่ ๆ ในเมืองหลัก

“ททท.ต้องหาวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน ไม่ให้มาแบบกรุ๊ปใหญ่ ๆ อย่างเดียว อยากให้ลองมาสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปเล็ก ๆ บ้าง”

ด้านการซื้อขายสินค้าผ่าน “ออนไลน์ แทรเวล เอเย่นต์” (OTA) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีนนั้นได้มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย จำนวน 50 ราย ในนาม “ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์” (ประเทศไทย) หรือ Online Tourism Club of Thailand (OTCT) ซึ่งทำตลาดออนไลน์ขายนักท่องเที่ยวจีน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยแบ่งเป็นบริษัททัวร์ขายออนไลน์ 25 แห่ง และผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวอีก 25 ราย โดยได้ตกลงร่วมกันในชมรมว่า “จะไม่ขายตัดราคากัน” ด้วยการจ้างคนมามอนิเตอร์ราคาสินค้าท่องเที่ยวที่ขายให้ชาวจีนบนช่องทางออนไลน์ ถือเป็นวิธีการ “ตรวจสอบกันเอง” ไม่ให้ขายต่ำกว่าต้นทุน จากวิธีการนี้ ทำให้ตอนนี้พบว่ามีการตัดราคาขายลดลงเหลือ 5% จากเคยพบมากถึง 4,000 กว่ารายการ

ทั้งนี้ เตรียมใช้โมเดลการตรวจสอบกันเองของ OTCT ที่จังหวัดเชียงใหม่ และหวังว่าจะเห็นโมเดลความร่วมมือของผู้ประกอบการนี้ ขยายตัวอย่างเข้มแข็ง และช่วยกันทำต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น