เอไอเอส จับมือ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเปิดศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Co-Working Spaceบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนยุคดิจิทัล

เอไอเอส ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกระทรวงพัฒนาสังคมและความม้่นคงของมนุษย์เปิด“ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนต้นแบบ Co-Working Space AIS ร่วมบ่มเพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล” ให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอไอเอส “Digital For Thais” ในการนำเทคโนโลยดิจิทัลสนับสนุนภาครัฐ มุ่งหวังให้ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนฯเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการในชุมชน

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึง นโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลเข้าไปส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลได้เล็งเห็นความสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอไอเอส ภายใต้แนวคิด “Digital For Thais” ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปยกระดับรากฐานของประเทศใน 4 ด้าน คือ สาธารณสุข การเกษตร การศึกษา และ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ (Start Up) เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
เอไอเอส และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) สนับสนุนการจัดทำโครงการ“ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Co-Working Space AIS ร่วมบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล” ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง โดยมีสาระสำคัญ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจรายย่อย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือสตรีที่ขาดโอกาสและครอบครัวมีฐานะยากจน ด้วยการสนับสนุนด้านการศึกษาและสร้างอาชีพ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
เอไอเอส มองเห็นโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและสตรีที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพ ให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติด้านการตลาดออนไลน์ และการให้คำปรึกษาธุรกิจ ตลอดจนวิเคราะห์แนวทางการทำตลาดออนไลน์ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
สามารถเพิ่มยอดขายของสินค้า และลดต้นทุนในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ ยังสามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกในเครือข่ายผู้ประกอบการของศูนย์การเรียนรู้อินเทอร์เน็ตชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่ากรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีภารกิจในการมุ่งหวังให้ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือจังหวัดลำปางสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกในเครือข่ายครอบครัวชุมชนและสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุขและมีความยั่งยืนในอนาคต โดยมีความตั้งใจในการนำองค์ความรู้ด้านดิจิทัลไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผู้ประกอบธุรกิจและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ ซึ่งถือเป็นต้นแบบในการให้ทุกภาคส่วนที่สนใจทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชารัฐ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกิดเป็นองค์ความรู้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน และสามารถนำกลับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่สู่สังคมความเข้มแข็งตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

“การลงนามบันทึกข้อตกลงและเปิดศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนฯในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวโดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ถือเป็นหน่วยงานนำร่องที่จะทำให้องค์ความรู้ด้านดิจิทัลไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายผลออกไปในวงกว้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”
นายชาลี สมมาตร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง กล่าวว่าศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Co-Working Space AIS ร่วมบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนดิจิทัลแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่แหล่งการเรียนรู้แก่กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบธุรกิจในชุมชน และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ผลิตเกิดการสร้างงานสร้างรายได้สร้างเครือข่ายในชุมชนเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันเชื่อมโยงองค์ความรู้ในแขนงต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่กลุ่มสตรีและกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจในชุมชนที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของศูนย์เรียนรู้ฯรวมถึงประชาชนและกลุ่มสตรีที่ประกอบธุรกิจภายในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพให้กลุ่มอาชีพได้รู้เท่าทันยุคดิจิทัล และสามารถแข่งขันในตลาดได้ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และภารกิจปัจจุบันของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ ที่มีภารกิจในการให้ความรู้ด้านอาชีพควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา
“ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Co-Working Space AIS ร่วมบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล ถือเป็นต้นแบบในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่สนใจทั้งภาครัฐภาคเอกชน าคประชารัฐและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการเริ่มตันพัฒนาหรือต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลต่อไปอย่างยั่งยืน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น