(คลิป) แพทย์ มช. เปิดตัว ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid OR แห่งเดียวใน South East Asian

เมื่อเวลา 10:00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ ห้องประชุม ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย อาจารย์ นายแพทย์สุรินทร์ วรกิจพูนผล หัวหน้าหน่วยระบบหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วนรักษ์ วัชรศักดิ์ศิลป์ หน่วยประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติศักดิ์ อุ่นศรีส่ง ภาควิชารังสีวิทยา ได้ร่วมกันแถลงข่าวการเปิดตัวห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid OR แห่งเดียวใน South East Asian โดยมีผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมการเปิดแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

โดยห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid OR แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้นำเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคป (X-Ray Fluoroscope) ชนิดแขนโรบอทหมุนได้ 360 องศา เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัยขั้นสูงมาใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ช่วยให้การผ่าตัดที่มีความยากซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง ให้มีความรวดเร็วแม่นยำแผลผ่าตัดเล็กผู้ป่วยเสียเลือดน้อย และมีประสิทธิภาพความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ป่วย

ทั้งนี้ทางศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ หรือ Hybrid OR เราได้นำนวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูงด้วยเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคป (X-Ray Fluoroscope) ชนิดแขนโรบอทหมุนได้ 360 องศา มาใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดร่วมกับการฉีดสี โดยเฉพาะในกลุ่มโรคที่รักษายาก ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งห้องผ่าตัดอัจฉริยะนี้จะเป็นห้องที่รวมเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์สหสาขาวิชาทั้งแพทย์ผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ แพทย์รังสีร่วมรักษา เพื่อให้การรักษาคนไข้ได้ผลดีที่สุด

ห้องผ่าตัดอัจฉริยะนี้เราใช้เทคโนโลยีขึ้นสูงที่สามารถป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด ใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปมีหลอดเอกซเรย์กำลังสูงด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ (Flat emitter x-ray tube) ที่ทำให้ได้ภาพคมชัดขึ้นกว่าเดิมถึง 4 เท่า ทำให้เห็นภาพสามมิติแบบขั้นสูง เห็นรายละเอียดของอวัยวะได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีความยากและซับซ้อนของโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุในโรคหลอดเลือดในสมอง, การผ่าตัดผ่านทางหลอดเลือดและหัวใจ , การวินิจฉัยกระดูกสันหลัง 3 มิติ โดยวิธีซ้อนภาพ(Spinal Fusion), การรักษามะเร็งตับโดยให้เคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือด(TACE) เป็นต้น ในขณะที่คนไข้และแพทย์ได้รับปริมาณรังสีและใช้สารทึบแสงใช้การฉีดสีเข้าเส้นเลือดน้อยลง คนไข้ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องอยู่ห้อง ICU ห้องฟักฟื้นเป็นเวลานาน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยต่ออีกว่า “แขนโรบอทหมุนเอกซเรย์ได้ 360 องศา ทำให้การผ่าตัดสามารถเข้าถึงคนไข้ได้ในทุกระนาบและเตียงผ่าตัดสามารถแบ่งเป็นท่อนได้ สามารถเอกซเรย์ตั้งแต่หัวจรดเท้าโดยไม่ต้องเลื่อนเตียงคนไข้ ใช้งานทั้งในขณะที่คนไข้นอนราบหรืออยู่ในท่านั่ง โดยที่แขนโรบอทจะรักษาระยะศูนย์กลางกับเตียงคนไข้ให้อย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องปรับแขนหรือเลื่อนเตียงคนไข้ ลดการเคลื่อนที่ผู้ป่วยขณะทำการผ่าตัด สามารถทำภาพเสมือนการทำ CT scan โดยใช้เวลาในการเก็บภาพไม่ถึง 6 วินาทีภายในห้องผ่าตัดไฮบริด ทำให้สามารถประเมินผลก่อนการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังการรักษาได้ทันทีภายในห้องผ่าตัดไฮบริดทำให้การผ่าตัดมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการที่ดีขึ้น

สำหรับห้องผ่าตัดอัจฉริยะนี้ตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 อาคารศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นห้องผ่าตัดที่มีความทันสมัย เป็นการพัฒนาทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาตรฐานสากลของโลก นำมาซึ่งความเป็นเลิศในการบริการ การวิจัย และการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราเป็นโรงเรียนแพทย์และเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับประเทศในการให้บริการผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยต่อไปในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น