สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้า

สดร. ตั้งกล้องโทรทรรศน์ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้าและทรงถ่ายภาพดาราศาสตร์จากซีกฟ้าใต้ ณ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้า ณ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต โปรดให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งกล้องโทรทรรศน์ถวายและทรงถ่ายภาพดาราศาสตร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ณ จังหวัดภูเก็ต

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เวลาประมาณ 20.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังดาดฟ้าอาคารชั้น 2

ซึ่ง สดร. เตรียมกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสงและหักเหแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-14 นิ้ว จำนวนรวม 5 ตัวสำหรับทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้า ได้แก่ ดาวคู่แกมมา แอนโดรเมแด (? And) อยู่ในกลุ่มดาวแอนโดรเมดา ห่างจากโลกประมาณ350 ปีแสง ประกอบด้วยดาวสว่างสีส้ม และดาวที่ริบหรี่สีฟ้า กาแล็กซีแอนโดรเมดา (M31, NGC224) มีลักษณะเป็นรูปก้นหอยคล้ายกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่ขนาดใหญ่กว่า อยู่ห่างออกไปราว 2.6 ล้านปีแสง และกระจุกดาวทรงกลม (M15) อยู่ในกลุ่มดาวม้าปีก ห่างออกไปประมาณ 35,000 ปีแสง ประกอบด้วยดาวฤกษ์มากกว่า 100,000 ดวง และทรงถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าซีกฟ้าใต้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติชนิดสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 นิ้ว ของสถาบันฯ ที่ติดตั้งอยู่ ณ หอดูดาว สปริงบรู๊ค รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ เนบิวลาทารันทูลา (Tarantula Nebula, NGC 2070) เป็นกลุ่มแก๊สไฮโดรเจนเรืองแสงอยู่ในเมฆมาเจลลันใหญ่ อยู่ห่างจากโลก 160,000 ปีแสง และมีขนาดราว 300 ปีแสง กาแล็กซีช่างแกะสลัก(Sculptor Galaxy, NGC 253) เป็นกาแล็กซีทรงกังหัน อยู่ห่างจากโลก 11.4 ล้านปีแสง และ กาแล็กซีกังหันมีคานใหญ่ (GreatBarred Spiral Galaxy, NGC 1365) เป็นกาแล็กซีแบบกังหันมีคาน ปรากฏในกลุ่มดาวเตาหลอม ห่างจากโลก 56 ล้านปีแสง หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับแรมเวลาประมาณ 21.45 น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นล้นพ้น

สำหรับการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 (The 11th International Olympiad onAstronomy and Astrophysics : IOAA 2017) ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมจัดการแข่งขัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดภูเก็ต และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิดการแข่งขันฯ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รับผิดชอบการสอบภาคสังเกตการณ์ ทั้งการดูดาวท้องฟ้าจริง การใช้กล้องโทรทรรศน์ และใช้ท้องฟ้าจำลองฟูลโดมดิจิทัล นำกล้องโทรทรรศน์ทั้งแบบหักเหแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว และกล้องโทรทรรศน์ทั้งแบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว จำนวนรวมกว่า 50 ตัว พร้อมทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ กว่า 30 คน เพื่ออำนวยการสอบภาคสังเกตการณ์ดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น