รายงานพิเศษ จากหมู่บ้านปลูกผักรักษ์สุขภาพ สู่งานประเพณีของ

ชุมชนจะเข้มแข็งได้ ต้องประกอบด้วยกลุ่มผู้นำที่มีความสามารถ มีเป้าหมายชัด มีแผนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชุมชนก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม และเป็นที่ต้องการของสมาชิกในชุมชนนั้นๆ
ที่บ้านหาดสองแคว หมู่ 2 ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ พบว่าปัญหาสุขภาพของชาวบ้านเกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างหนัก สภาผู้นำชุมชนจึงพยายามแก้ปัญหา โดยรณรงค์ลดการใช้ลง และส่งเสริมให้ปลูกผักในครัวเรือนไว้กินเอง เมื่อปลูกมากๆ จนเหลือ ก็นำไปขาย สร้างรายได้อีกทาง ขณะเดียวกัน “ผัก” ยังเป็นตัวเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เช่น ช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา มีการนำผักไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีด้วย
หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นชุมชนลาวเวียง ที่อพยพมาจากนครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันมี 112 หลังคาเรือน ประชากร 354 คน พื้นเพประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาน้ำท่วม และภัยธรรมชาติ ส่วนหนึ่งจึงหันมาทำไร่ ทำสวน เช่น อ้อย ข้าวโพด พริก ถั่ว ฯลฯ หากสิ่งที่ตามมาคือการใช้สารเคมีในปริมาณมาก โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสารเคมีของ อบต.หาดสองแคว พบว่าเกษตรกรร้อยละ 60-70 มีสารเคมีตกค้างในเลือดระดับสีแดง ประกอบกับแต่ละปีราคาปุ๋ย ยา แพงขึ้น ผกผันกับราคาพืชผลที่ตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านมีหนี้สิน ความต้องการทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ

วิภาพร ชันยาสูบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 เล่าว่า ความรุนแรงของปัญหา ถึงขั้นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นแรงงานหลักในภาคเกษตรกรรมเสียชีวิตหลายราย ทิ้งภรรยาและลูกไว้เบื้องหลัง อันเป็นที่มาของความพยายามหาทางออก ด้วยการจัดตั้งสภาผู้นำ ซึ่งมาจากตัวแทนของทุกกลุ่มในหมู่บ้าน จำนวน 30 คน เพื่อดำเนินโครงการลดสารเคมีทั้งในภาคเกษตรกร และครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6
กติกาที่สมาชิกโครงการทุกคนได้ร่วมกันวาง และถือปฏิบัติ คือทุก 3 เดือน สภาผู้นำบ้านหาดสองแคว กับสมาชิกต้องช่วยกันทำน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง เมื่อหมักจนได้ที่ก็จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ซื้อในราคาทุน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาดมากกว่าครึ่ง เพื่อให้ใช้แทนปุ๋ยและสารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตพืชผัก ควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น
ขณะเดียวกันในการนำน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก ซึ่งเรียกว่าสารชีวภัณฑ์ไปใช้ ทางสภาผู้นำก็จะคอยสอดส่องอย่างใกล้ชิดว่าใช้จริงหรือไม่ ใช้แล้วได้ผลอย่างไร เมื่อได้ผลผลิตชาวบ้านสามารถนำมาจำหน่ายบนถนนสายวัฒนธรรมภายในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะในรูปผักผลไม้สด ผักแปรรูป หรือนำไปทำอาหารพื้นบ้าน และผลผลิตอีกส่วนหนึ่งแม่ค้าจะนำไปวางขายในตลาดทุกวัน

นอกจากนี้ สภาผู้นำหมู่บ้านหาดสองแคว ยังหนุนให้ชาวบ้านจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักเอง และจัดช่วงการปลูกพืชผักแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ที่ทางสภาผู้นำได้ศึกษาว่าช่วงไหน ตลาดต้องการผักอะไร ราคาเป็นอย่างไร ทำให้ลดต้นทุนในการปลูก และดูแล ทั้งยังทำให้ผลผลิตได้ราคาดีด้วย
“ผักที่ปลูก และเก็บเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้าน อาทิ กระเจี๊ยบเขียว, ผักปลัง, ชะอม, ขนุน, ดอกแค, พริก, มะนาว, มะเขือ, ฝรั่ง, กล้วย, อ้อย, ข้าวโพด, ฟัก, แตงไทย รวมถึงเพาะเห็ดนางฟ้า ซึ่งมีทั้งที่ปลูกในบ้าน และปลูกในไร่สวน ขณะที่ทีมสภาผู้นำเอง ก็ทำเป็นตัวอย่าง ใช้พื้นที่แปลงรวม 5 ไร่เศษ ตรงข้าม อบต.หาดสองแคว ปลูกพืชผักตามฤดูกาล เพาะเห็ดนางฟ้า มีสถานที่ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ เมื่อได้ผลผลิตก็จะนำไปรับประทานภายในครัวเรือนและจำหน่าย ให้มีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนใช้ในครั้งต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านหาดสองแคว อธิบาย
ทุกวันนี้ ผักปลอดสารเคมี ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านหาดสองแคว โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบริโภคเพื่อสุขภาพ และจำหน่ายสร้างรายได้เท่านั้น หากยังผูกพันกับประเพณีวัฒนธรรมของคนลาวเวียงอย่างแน่นแฟ้น ดังเช่นงาน “ย่างเลาะ เซาะเบิ่ง เซาะกิน” ที่จัดขึ้นทุกวันศุกร์แรกของเดือน ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ตรงกับช่วงงานประเพณีลอยกระทง ทางเยาวชนในหมู่บ้านจึงใช้พืชผักปลอดสารเคมี จัดกระทงสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ และชาวบ้านทั่วไป ก็เก็บผักปลอดสารมาทำกระทง และอาหารจำหน่าย บนถนนสายวัฒนธรรม หรือบ้างก็จำหน่ายผักสด ให้นักท่องเที่ยวที่มีทั้งคนในตำบลเดียวกัน และคนต่างถิ่นเข้ามาเลือกซื้ออย่างคึกครื้น
ธีระพงษ์ วงศ์แสน เยาวชนบ้านหาดสองแคว เล่าถึงกระทงสีเขียวว่า ถือเป็นกระทงกลางของหมู่บ้าน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ตกแต่งแตกต่างจากที่อื่น คือใช้พืชผักปลอดสารเคมีที่แต่ละครัวเรือนปลูกไว้มาประดับ นอกเหนือจากหยวกกล้วยและใบตอง เช่น มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะเขือ มะเขือเทศ ข้าวโพดอ่อน กระเจี๊ยบ แครอท และดอกดาวเรือง เป็นต้น ไม่เน้นดอกไม้สวยงาม เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุทุกอย่างที่นำมาใช้ปลอดจากสารพิษจริงๆ
เรียกได้ว่าการขับเคลื่อนภายในชุมชนเล็กๆ ก่อให้เกิดความตระหนักในวงกว้าง ส่งผลให้ผักปลอดสาร กลายเป็นทางเลือกที่ทุกคนยอมรับว่าปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตประจำวัน.

ร่วมแสดงความคิดเห็น