รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิงและสหภาพยุโรป (EU) จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว พร้อมกับยื่นข้อเสนอขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล
เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง สนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “ตีเกราะ เคาะไม้ เสวนา และยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ ต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่” ที่บริเวณหน้าอาคารศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปวิน ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เนื่องในโอกาสเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ซึ่งปีนี้การจัดกิจกรรมมีหัวข้อภายใต้แนวคิด “เฉย = ช่วยทำร้าย ร่วมตีเกราะ เคาะไม้ ชุมชน ร่วมใจ ผู้หญิง ครอบครัว ชุมชนไทย ปลอดความรุนแรง”
สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี ในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการทุบตีทำร้าย การละเมิดทางเพศ เด็ก ผู้หญิง และคนในครอบครัวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10-12 ปี ที่เด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง ทั้งบาดเจ็บ สาหัส และถึงตาย โดยประมวลผลจาก 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขโดยศูนย์พึ่งได้ (OSCC) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่า มีกรณีความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 241,386 ราย ข่มขืนกระทำชำเรา จำนวน 38,125 ราย ความรุนแรงทางเพศ จำนวน 915 ราย ฆ่าและข่มขืน จำนวน 97 ราย ล่อลวงไปค้ามนุษย์ จำนวน 90 ราย ฆ่าและพยายามข่มขืน จำนวน 47 ราย
ขณะเดียวกันเครือข่ายเพื่อนหญิง ล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง และสหภาพยุโรป (EU) จัดทำข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก และสตรี โดยมีข้อเสนอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยกระดับจิตสำนึกของข้าราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยกระดับการทำงานขององค์กรท้องถิ่น ยกระดับการทำงานสหวิชาชีพจังหวัด ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กและสตรี ลดแหล่งมั่วสุมอบายมุข และจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าของสถานที่ที่ทำผิดกฎหมาย ให้มีการเร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดร้ายแรงคดีทางเพศ ค้ามนุษย์เด็กและผู้หญิง ขอให้มีการบำบัดฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องหาช่วงที่ได้เข้าไปรับโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก และ ขอให้มีการจัดทำสถิติข้อมูลอย่างชัดเจนเพื่อง่ายและสะดวกต่อความช่วยเหลือเด็ก และผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรง .

ร่วมแสดงความคิดเห็น