ชูสังคมไร้เงินสด ดันเชียงใหม่ เมืองอัจริยะ


เชียงใหม่พร้อมผลักดันเมืองเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ร่วมกับ ธ.ไทยพาณิชย์ หวังเนรมิตเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ สนองนโยบายรัฐบาลในการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อให้คนเชียงใหม่ รวมไปถึงนักท่องเที่ยว ได้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ผ่านมา นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Chiang Mai Smart City พร้อมด้วยนางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุดRetail ProductsและRetail Payment ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ร่วมงาน SCB Smart City : ม่วนแต้ๆ แค่สแกน ภายใต้แคมเปญ SCB Easy Pay-แม่มณี Money Solution ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพจังหวัดเชียงใหม่
โดย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาเชียงใหม่สู่การเป็นเมือง Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ เพราะว่าเชียงใหม่นั้นเป็นเมืองที่มีโครงสร้างที่ดี มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ดังนั้นยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ก็คือการสร้าง Smart City ซึ่งหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ของสมาร์ ซิตี้ก็คือ เรื่องของการสมาร์ท ลิฟวิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายสำคัญคือ ประเทศไทย 4.0 โดยต้องการผลักดันสังคมไปสู่สังคมไร้เงินสด เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในระหว่างการเดินทางและสำคัญก็คือมีความปลอดภัยกับผู้ใช้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เองจึงสนองนโยบายดังกล่าว โดยการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีการใช้เงินสดให้น้อยลง ให้หันมาใช้อุปกรณ์ต่างๆ หรือ สมาร์โฟน มาแทนการใช้เงินสด โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนด 5 ธนาคาร ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด ซึ่งในวันนี้จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ในการที่จะทำให้เชียงใหม่นั้นเป็นเมืองสมาร์ท ซิตี้ ในเรื่องของการใช้ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด แต่ใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ในการที่จะพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้คนเชียงใหม่ รวมไปถึงนักท่องเที่ยว มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ด้าน นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุดRetail ProductsและRetail Payment ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้นำด้านดิจิทัล ไลฟ์ไตล์ แบงกิ้ง ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสังคมไทยสู่สังคมไร้เงินสด Cashless Society เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งพ่อค้าแม่ค้าและผู้ใช้งาน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการสร้าง ประเทศไทย 4.0 โดยการพัฒนาและผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ โดยการจัดกิจกรรม SCB Smart City:ม่วนแต้ๆ แค่สแกน ภายใต้แคมเปญ SCB Easy Pay-แม่มณี Money Solution ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นสังคมไร้เงินสด โดยการสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้า นักเรียน นักศึกษา ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงนักท่องเที่ยว หันมาใช้คิวอาร์โค้ด Payment แทนการใช้เงินสด ทั้งนี้ถือว่าเป็นโครงการเริ่มแรกที่จะขับเคลื่อนไปสู่เมือง Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถรองรับการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในทุกประเภทสินค้า 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ แหล่งช้อปปิ้ง มหาวิทยาลัย คมนาคมขนส่ง ตลาดสดและวัด ด้วยการใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์แบบไม่มีค่าธรรมเนียมผ่าน SCB Connect ผ่านแอปพลิเคชั่น Line นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการเปิดชำระเงินผ่านอาลิเพลย์ (Alipay) ซึ่งเป็นเป็นแอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกด้วย ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังมีแผนที่จะขยายการบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมียอดคิวอาร์โค้ดกว่า 200,000 บัญชีและภายในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นอีก 500,000 บัญชี รวม 700,000 บัญชี
นางอภิพันธ์ กล่าว นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการและสร้างองค์ความรู้ร่วมกันในการพัฒนาระบบสังคมไร้เงินสด พร้อมก้าวสู่การเป็น Smart University ผ่านประสบการณ์จริงในการใช้นวัตกรรมทางการเงินดิจิทัลในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อตอบรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว
โดย รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รักษาการแทนอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และธนาคารไทยพาณิชย์ ต่างมีความมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน การบริหารจัดการ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานในการบริการแก่นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้มีความทันสมัย สะดวกรวดเร็ว และเป็นไปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น โดยเสนอโครงการ University Cashless Society ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการพัฒนาระบบ “CMU 4.0 University of the future” ในการพัฒนาระบบให้บริการต่างๆในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นไปในรูปแบบของ SMART UNIVERSITY และส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านแบบ EcoSystem ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดให้แก่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น