มรดกกรุงเก่า “ศรีสัชนาลัย”


แผ่นดินกว้างใหญ่ของศรีสัชนาลัยและแม่น้ำยมได้ร่วมกันสร้างตำนานชีวิตและอารยธรรมที่สั่งสมมานานกว่า 700 ปี ซากโบราณสถานที่อยู่เคียงข้างแก่งหลวง ที่ซึ่งคนโบราณเรียกกันว่า “เมืองเก่า” หากปัจจุบันรู้จักที่แห่งนั้นในนาม “ศรีสัชนาลัย” นั้นยิ่งใหญ่ไพศาล ทั้ง ๆ ที่ในอดีตเมืองแห่งนี้เป็นเพียงแค่เมืองลูกหลวงแห่งอาณาจักรสุโขทัย

ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของศรีสัชนาลัยและแม่น้ำยม ได้มีส่วนร่วมสร้างตำนานชีวิตและอารยธรรมที่สั่งสมมานานกว่า 700 ปี กล่าวกันว่าพื้นที่ของศรีสัชนาลัย อำเภอหนึ่งซึ่งอยู่เหนือสุดของจังหวัดสุโขทัยนั้น ช่างกว้างขวางกินอาณาบริเวณถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด
เคียงข้างเมืองศรีสัชนาลัยมีสายน้ำกว้างใหญ่ของแม่น้ำยม หล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินโดยรอบให้ความชุ่มฉ่ำและความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารเช่นที่เคยเป็นมา แม่น้ำเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคเหนือในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยมีชุมชนโบราณตั้งอยู่สองฟากฝั่ง มีเขาพระศรีเป็นเสมือนฉากหลังและเขาลูกเล็ก ๆ ต่อเนื่องกันมาจนถึงแม่น้ำยม อันมีแก่งหลวงเป็นเหมือนปราการป้องกันข้าศึก
ณ บริเวณที่ราบริมแก่งหลวงนี่เอง เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณศรีสัชนาลัย ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 และจารึกนครชุม ปรากฏชื่อของเมืองศรีสัชนาลัยในฐานะของนครรัฐรุ่มเรือง เข็มแข็ง กระทั่งเติบใหญ่เป็นราชอาณาจักรแห่งแรกของสยาม เมืองโบราณแห่งนี้สร้างห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยไปทางใต้เพียง 2 กม. สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “เมืองเชลียง” ซึ่งยังคงปรากฏสิ่งก่อสร้างให้พบเห็น อาทิ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียง วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ ฯลฯ ต่อมาเมืองนี้พัฒนาด้วยการขยายอาณาบริเวณสร้างเป็นเมืองใหญ่ในบริเวณใกล้แก่งหลวงคือ “เมืองศรีสัชนาลัย” ซึ่งมาจากชื่อ “ฤาษีสัชนาลัย” ผู้แนะนำให้พระยาบาธรรมราช สร้างเมืองนี้ขึ้น โดยให้เขาพนมเพลิงอยู่ภายในเมืองเพื่อเป็นศาสนาสถานสำหรับการบูชาไฟ
ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยกล่าวถึงศรีสัชนาลัยว่าเป็นเมืองคู่กับสุโขทัย โดยเรียกรวมกันว่า “ศรีสัชนาลัยสุโขทัย” ดังนั้นศรีสัชนาลัยจึงเป็นเมืองสำคัญประหนึ่งเมืองหลวงของอาณาจักรคู่กับเมืองสุโขทัย ในต้นต้อนพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองศรีสัชนาลัยถูกลดฐานะลงเป็นเมืองลูกหลวง มีโอรสของกษัตริย์ปกครอง ในพุทธศตวรรษที่ 20 สุโขทัยตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา ชื่อศรีสัชนาลัยจึงไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารของอยุธยา มีแต่ชื่อ “เมืองเชลียง” บอกฐานะเป็นเมืองพญามหานคร ต่อมาในปี พ.ศ.2099 ก็ปรากฏชื่อ “เมืองสวรรคโลก” และเรียกสืบต่อกันมาตลอดสมัยอยุธยา
ในสมัยสงคราม 3 ฝ่าย (อยุธยา ล้านนา พม่า) เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างเส้นทางผ่านเดินทัพ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอพยพหนีภัยสงครามทิ้งเมืองให้ร้าง บางครั้งเจ้าผู้ครองนครกระด้างกระเดือง เกิดการสู้รบปราบปราม เช่นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2127) เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยแข็งเมืองทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพมาตีแล้วอพยพผู้คนไว้ที่เมืองพิษณุโลก ปล่อยให้เมืองนี้รกร้าง
เมื่อครั้งสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า (พ.ศ.2310) เมืองศรีสัชนาลัยก็ถูกทิ้งให้ร้างเช่นเดียวกับอีกหลายเมือง จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงมีชัยชนะต่อศึกพม่า (พ.ศ.2328) ทรงเห็นว่าเมืองสวรรคโลกซึ่งตั้งอยู่ที่ศรีสัชนาลัย มีความทรุดโทรมมากขึงโปรดฯให้ตั้งเมืองใหม่ ณ ตำบลวังไม้ขอน ซึ่งก็คืออำเภอสวรรคโลกในปัจจุบัน ส่วนเมืองศรีสัชนาลัยให้ย้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านหาดเสี้ยว
ในสมัยที่เมืองศรีสัชนาลัยเรืองอำนาจ ปรากฏว่ามีวัดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั้งในและนอกกำแพงเมืองถึงกว่า 140 วัด แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาอย่างสุดขีด สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดในศรีสัชนาลัยสมัยนั้นก็คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ซึ่งต่อมากลายเป็นศิลปกรรมที่แพร่หลายเข้าไปถึงอาณาจักรล้านนา นอกจากนั้นแล้วยังปรากฏป้อมปราสาท แนวกำแพงและประตูเมือง รวมทั้งเรื่องราวของเตาเผาเครื่องสังคโลก ซึ่งเป็นหลักฐานทางอุตสาหกรรมส่งออกถ้วยชามที่ยังคงมีหลักฐานปรากฏอยู่สมบูรณ์ที่สุด

ปัจจุบันเมืองเก่าศรีสัชนาลัยได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งโดยกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นบูรณะปฏิสังขรณ์และพัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชม ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่มีโบราณสถานต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณมากกว่า 140 แห่ง วัดสำคัญที่เป็นที่รู้จักได้แก่ วัดช้างล้อม, วัดเจดีย์เจ็ดแถว, วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่, วัดนางพญา, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง, วัดเจ้าจันทร์ , วัดเขาสุวรรณคีรี, วัดชมชื่น, วัดน้อยจำปี เป็นต้น
ภายในกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย นอกจากจะมีพระราชวังแล้ว ยังประกอบด้วยบ้านเรือนขุนนาง ข้างราชการและวัดต่าง ๆ ส่วนประชาชนทั่วไปให้ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบนอกกำแพงเมือง จะอนุญาตให้เข้ามาในตัวเมืองก็ต่อเมื่อมีเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ ๆ เท่านั้น
ผังของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า เนื่องเพราะภูมิประเทศบางตอนบังคับ กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกโค้งไปตามลำน้ำยม เมื่อมองจากนอกเมืองจะเห็นคูน้ำคันดินสลับกัน ถัดมาจึงเป็นแนวกำแพงศิลาแลง ป้อม และประตูเข้าออกตามทิศต่าง ๆ รอบเมืองซึ่งมีถึง 7 ประตู ด้านทิศเหนือภายในกำแพงเมืองมีเขาพนมเพลิงและเขาสุวรรณคีรี ซึ่งเป็นแนวเขาที่ต่อเนื่องมาจากเขาพระศรีนอกเมือง เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสุวรรณคีรี สามารถมองเห็นโบราณสถานมากมายกระจายอยู่ตามแนวเขาทางด้านทิศตะวันตก บนยอดเขาสุวรรณคีรีมีพุทธสถาน คือ เจดีย์ทรงลังกา จากตำแหน่งบนยอดเขานี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศในระยไกลได้โดยรอบ ในอดีตเคยใช้เป็นหอสังเกตการณ์ดูความเคลื่อนไหวของข้าศึกที่ยกเข้ามาประชิดเมืองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นบนยอดเขายังใช้เป็นแกนกำหนดระยะการก่อสร้างศาสนาสถานสำคัญๆข้างล่าง เป็นแถวเป็นแนวอยู่กลางเมืองทั้ง 4 วัด คือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่และวัดนางพญา
วัดวาอารามสำคัญทั้งในและนอกเมืองศรีสัชนาลัยเหล่านี้ ล้วนแสดงถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตามแบบพุทธศาสนาลัทธิหินยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกกันว่า “ลังกาวงศ์” อันเป็นศาสนาประจำแว่นแคว้นสุโขทัยที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งซึ่งมากเกินพอที่จะจินตนาการถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่บรรพชนไทยได้สร้างสมเอาไว้

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
8/7/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น