ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ จับมือ สสจ.แม่ฮ่องสอน พัฒนาศักยภาพบุคลากร และผู้นำสุขภาพในชุมชน

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.60 นางอรอนงค์ คำไทย รองนายแพทย์ สสจ.แม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ในชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน ณ ห้องประชุมพิชชาพรเฮ้าส์ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขและผู้นำสุขภาพ (Health Leader) มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะการถ่ายทอดพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ 4 ด้าน ได้แก่ อาหาร กิจกรรมทางกาย การนอนหลับ และดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องและเหมาะสม สามารถทำหน้าที่กระตุ้นให้ประชาชนวัยทำงานในชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และช่วยผลักดันให้คนของชุมชน มีการดูแลสุขภาพตนเองได้ ทำให้เกิดชุมชนหุ่นดี สุขภาพดี ยกระดับเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพระดับดี

โดยมีผู้เข้าประชุมจำนวนทั้งสิ้น 70 คน ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานจาก อปท.,สถานศึกษา ,สสจ. ,สสอ.,รพ. ชุมชน, รพ.สต. และผู้นำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ที่ประชุมมีการจัดกิจกรรม “วงล้อชีวิต” บรรยายแบ่งฐานเรียนรู้และฝึกปฏิบัติทักษะการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ 4 ด้าน คือด้านอาหาร กิจกรรมทางกาย การนอน และการดูแลสุขภาพช่องปาก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน สร้างผู้นำสุขภาพของพื้นที่ตำบลต้นแบบ จากนั้นจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนปี 2561

นางสิริรำไพ ภูธรใจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน ศูนย์อนามัยที่ 1 กล่าวว่า ประชาชนวัยทำงานมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ดูแลสมาชิกของครอบครัว จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าคนไทยวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ได้แก่ กินผักผลไม้ต่อวันให้เพียงพอตามข้อแนะนำ (รวม >5 ส่วนมาตรฐานต่อวัน) เพียงร้อยละ 25.9 กิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 80.8 มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ (18.5 – 22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร) เพียงร้อยละ 36.43

ส่วนผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปาก ระดับประเทศ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555 โดย สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย พบว่า คนไทยวัยทำงานแปรงฟันหลังตื่นนอนตอนเช้า ร้อยละ 97.8 แปรงฟันก่อนเข้านอน ร้อยละ 79.9 และใช้อุปกรณ์เสริมร่วมกับการแปรงฟันร้อยละ 55.7 ผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 พบว่าการนอนหลับของคนไทยวัยทำงาน 8.2 ชม./วัน (ประชากรอายุ 10 ปีขึ้นไป)ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนวัยทำงาน ซึ่งสามารถควบคุม ป้องกัน และพัฒนาให้เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่ยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น