ผลักดันสถานประกอบการเหมืองแร่ มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบ


กพร. เดินหน้าผลักดันสถานประกอบการเหมืองแร่ ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบ ต่อสังคมภายใต้โครงการ CSR-DPIM โดยมีสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน จำนวน 91 แห่ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 88 ล้านบาท

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้โครงการ CSR-DPIM อย่างต่อเนื่องโดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้มาตรฐานแล้ว 91 แห่ง และใช้งบสนับสนุน เพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลค่ากว่า 88 ล้านบาท เพื่อมุ่งหวังให้การประกอบกิจการเหมืองแร่อยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ในฐานอุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับภาคการผลิต ซึ่งผลการผลิตจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่กว่า ร้อยละ 87 คิดเป็นมูลค่ากว่า 78,000 ล้านบาท ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงจำเป็นต้องกำกับดูแลให้สถานประกอบการเหมืองแร่ มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อการประกอบการทั้งด้านความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ดังนั้น กพร.จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการที่จะผลักดัน และส่งเสริมให้สถานประกอบการเหมืองแร่ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM)’’ เพื่อให้สถานประกอบการเหมืองแร่สามารถประกอบการได้อย่างต่อเนื่องและอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเข้าใจและการยอมรับในการนำทรัพยากรแร่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการ CSR-DPIM ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีสถานประกอบการเหมืองแร่ที่ได้ตามมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม รวม 91 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย CSR-DPIM จำนนวน 58 แห่ง โดยสร้างให้เกิดโครงการและแผนงานการพัฒนาร่วมกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งนำมาสู่ความสัมพันธ์อันดีและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาชุมชนจากผู้ประกอบการ CSR-DPIM จำนวน 56 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน จำนวน 5,607,300 บาท แผนงานด้านสิ่งแวดล้อม มูลค่าการสนับสนุน จำนวน 36,487,400 บาท และแผนงานยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้เสีย มูลค่าการสนับสนุน จำนวน 46,395,117 บาท คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่เข้าร่วมโครงการ รวมกว่า 88,489,817 บาท สำหรับในปี 2561 กพร. ยังคงมุ่งมั่นผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการประกอบการที่ได้มาตรฐานสากลในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้การประกอบการเหมืองแร่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น