การวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์สำหรับการปลูกพืช เพื่อลดการใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง

พื้นที่สูงหลายแห่งในประเทศไทยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวไทยภูเขา โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ชนิดพืชที่นิยมปลูกมากคือ ผักตระกูลกะหล่ำ มะเขือ พริก ข้าวโพด ไม้ดอก ไม้ผลเมืองหนาว กาแฟ ซึ่งบางชนิดมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีปริมาณมาก ผลคือ เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีภาระหนี้สิน ระบบเกษตรธรรมชาติ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเขตกรรม การใช้น้ำหมักสมุนไพร ปุ๋ยอินทรีย์ ลดน้อยลง ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารพิษลงแหล่งต้นน้ำและการสะสมสารพิษในดินที่ส่งผลต่อเนื่องถึงความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชุมชนปลายน้ำ รวมทั้งระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกันหลายมิติ ในขณะเดียวกันการได้รับสารพิษอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม การวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งานเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ควบคู่กับการรณรงค์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ โดยสารชีวภาพเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย แบ่งเป็น กลุ่มป้องกันกำจัดศัตรูพืชและกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต สามารถใช้งานได้ในลักษณะเป็นสารทดแทน และสารใช้ร่วมกัน/ใช้สลับเพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการสะสมของสารพิษในผู้ผลิต ผลผลิต และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางสนับสนุนแผนงานวิจัยการผลิตอาหารปลอดภัยและการผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสัมพันธ์กับ “การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ” รวมทั้งแนวทาง “การป้องกัน การลด การบำบัดมลพิษสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม”

สารชีวภาพ สารธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ เช่น กับดักฟีโรโมน อุปกรณ์สำหรับล่อหรือดึงดูดแมลง ช่วยลดการใช้สารเคมีเกษตร ลดการสะสมสารพิษ บางชนิดช่วยลดต้นทุนการปลูกพืชของเกษตรกร โดยเฉพาะสารชีวภาพที่มีส่วนประกอบจากสิ่งของเหลือใช้ทางการเกษตรทำให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด นอกจากนี้ การใช้สารชีวภาพถือเป็นแนวทางประยุกต์ใช้กลุ่มจุลินทรีย์ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างซับซ้อนมาทำให้เกิดประโยชน์ในลักษณะช่วยฟื้นฟู บำรุงรักษาระบบสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ในสภาพที่สมดุลโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาการดื้อ/การต่อต้านของเชื้อสาเหตุโรคหรือแมลงศัตรูพืชหากใช้ต่อเนื่อง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดพืชและจุลินทรีย์ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้กับพืช เพื่อทดสอบและประเมินประสิทธิภาพการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพร่วมกับเกษตรกรบนพื้นที่สูง
ทั้งนี้ชีวภัณฑ์เกษตร เป็นผลงานวิจัยภายใต้การดำเนินงานของชุดโครงการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์เกษตรและผลิตภัณฑ์สำหรับการปลูกพืชเพื่อลดการใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง ซึ่งในระยะที่ผ่านมาได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน คุณสมบัติหลักของสารชีวภาพเกษตร ได้แก่ การควบคุมศัตรูพืชชนิดต่างๆ แบบเฉพาะเจาะจง การปรับปรุงคุณสมบัติดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช (ลดความเป็นกรด ลดความเป็นพิษของโลหะหนัก) การส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับต้นพืช รวมทั้งประสิทธิภาพการใช้งานและความทนทานต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
ทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงทดลอง ตลอดจนการพัฒนารูปแบบและวิธีการใช้ที่เหมาะสม จนได้เป็นชีวภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเชื้อราสาเหตุโรคแมลง Metarhizium anisopliae เป็นชีวภัณฑ์เกษตรชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากงานวิจัยของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์เกษตรและผลิตภัณฑ์สำหรับการปลูกพืชเพื่อลดการใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง ซึ่งจากผลงานวิจัย พบว่า เชื้อราสาเหตุโรคแมลง Metarhizium anisopliae สามารถใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ หนอนศัตรูพืช ด้วงงวงมันเทศ เสี้ยนดิน แมลงในดิน และด้วงหมัดผัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีการที่เกษตรกรสามารถขยายเชื้อและผลิตใช้เองได้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีในการปลูกพืชได้อีกด้วย

ดร.สุมาลี เม่นสิน
นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

ร่วมแสดงความคิดเห็น