มช. ร่วม อบจ.เชียงใหม่ จัดเวทีขับเคลื่อนโครงการ “การปฏิรูปการศึกษาพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ”

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยชมรมผู้บริหารสถานศึกษาพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ จัดนำเสนอโครงการ“การปฏิรูปการศึกษาพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ”

โดยได้รับเกียรติจาก นาย ไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการเปิดงาน สืบเนื่องจากการหารือเบื้องต้นร่วมกันระหว่างผู้แทน นำโดย รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ขวัญชัย รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการบริการวิชาการและวิจัยรับใช้สังคมผลกระทบสูง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อ.ณรงค์ อภัยใจ ประธานชมรมผู้นักจัดการสถานศึกษาบนพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร และ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่รักษาการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการพัฒนาการโรงเรียนในพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปร่วมกันเห็นสมควรดำเนินโครงการ “ปฏิรูปการศึกษาบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ทั้งระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ”

การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพลิกฟื้นวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบันยังถือเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญเร่งด่วน แม้ว่าจะมีความพยายามในแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท ดูเหมือนว่าจะมีช่องว่างระหว่างกันมากยิ่งขึ้น “โรงเรียนพื้นที่สูง” ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวนมากกว่า 200 แห่งในสังกัดต่าง ๆ ยังคงมีความต้องการการหนุนเสริมพัฒนาทั้งระบบเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชน เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม พื้นที่ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง พบกับข้อจำกัดและเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และป้องกันปัญหารอบด้านอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนไทยเพื่อเป็นพลเมืองไทย 4.0 ตามแนวทางรัฐบาลมิติการพัฒนาทั้งระบบ

ผลการประชุมจึงได้มีข้อตกลงร่วมครอบคลุม 7 ด้านหลัก ได้แก่

1) การแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้

2) ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

3) ด้านการส่งเสริมอาชีพ

4) ด้านการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน

5) ด้านการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้บริหารและครูในแต่ละท้องถิ่น

6) ด้านสิ่งสนับสนุน ด้านสิ่งก่อสร้างเพื่อพัฒนาสุขอนามัยและอื่น ๆ เช่น ระบบน้ำสะอาด วัสดุส่งเสริมสุขอนามัยหรือตามความจำเป็นอื่น

7) ด้านเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันหนุนเสริมการดำเนินงานทั้งระบบ

เพื่อให้เกิดกระบวนการการทำงานอยู่อย่างบูรณาการและใช้ศักยภาพเพื่อการพัฒนาจากองค์ความรู้หลายแขนง กล่าวคือบูรณาการองค์ความรู้ทางการศึกษาและองค์ความรู้ทางการแพทย์และสุขภาพ การสื่อสาร ตลอดจนการร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นคณะทำงานร่วมกัน และประสานพลังประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม จึงรายงานข้อเสนอเชิงหลักการ “โครงการพัฒนาโรงเรียนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ” อันจะยังผลไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืนต่อไปที่มาของการจัดเวทีครั้งนี้ ทั้งนี้ จากความเห็นของ อ.ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขานุการคณะทำงานฯ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานว่า งานนนี้ถือเป็นมิติใหม่เพื่อสร้างสรรค์ศักยภาพ การมีส่วนร่วม การเสริมพลังการพัฒนาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดโครงการผลกระทบสูง หรือ High Impact Project อันได้แก่ งานนั้นต้องเป็นงานที่สำคัญ ตอบโจทย์อย่างชัดเจน และงานนั้นต้องมีความกว้างขวาง เข้าถึงประชาชนได้จำนวนมาก และเมื่อดำเนินงานแล้วต้องเกิดผลกระทบต่อชุมชน สังคมในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเริ่มต้นของการร่วมมือนี้ สามารถสนับสนุนการดำเนินงานตามกระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยประเด็นสำคัญคือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ที่จะต้องเริ่มต้นดำเนินงานอย่างเป็นระบบและมุ่งสู่ความยั่งยืนนั่นเอง

ภายในงานได้มีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ จากนักวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน และครู ในพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค กิจกรรมบำบัด และกายภาพบำบัด คณะศึกษาศาสตร์ และคณะการสื่อสารมวลชน จากผลการดำเนินงานบริการวิชาการชุมชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ต่อผู้อำนวยการโรงเรียนบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 200 คน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็นทำให้เวทีการนำเสนอมีความร่วมมือทางความคิดและวิชาการในการพัฒนาวงการการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนภาคเอกชนเชียงใหม่ที่ไม่ประสงค์ออกนามได้เสนอสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนในพื้นที่อำเภออมก๋อยจำนวน 4 โรงเรียน อาคารหลังละประมาณ 5 ล้านบาท นับว่าโครงการนี้ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนแล้วอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น