“กลองสะบัดชัย” การแสดงพื้นบ้านของคนล้านนา

ในอดีตกลองสะบัดชัยนั้นจะเกี่ยวพันกับ “ฝ่ายอาณาจักร” กษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพทั้งนั้น ต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์ของล้านนาถูกลดอำนาจลงจนสูญสิ้นไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูงจึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ “ฝ่ายศาสนจักร” ดังนั้นวัดจึงเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัด หน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้นของกลองสะบัดชัยก็คือตีเป็น “พุทธบูชา” จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “กลองปูจา”

การตีกลองสะบัดชัย เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านในล้านนาซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป ลีลาในการตีกลองมีลักษณะโลดโผนเร้าใจ โดยใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การแสดงตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม และนับว่าการตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะที่นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมมาสู่ล้านนาได้ไม่น้อย

แม้ว่าในช่วงหลังบทบาทของกลองสะบัดชัยจะอยู่ในฐานะ “การแสดง” และก่อนที่จะมาเป็นการแสดงนั้น กลองสะบัดชัยได้พัฒนารูปแบบ จังหวะและลีลาการตีมาหลายยุคหลายสมัย

หน้าที่ของกลองสะบัดชัยนอกจากการแสดงเป็นหลักแล้ว ในอดีตยังมีหน้าที่เป็นเสมือนสัญญาณเวลาที่จะโจมตีข้าศึก ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับพระงาม ผูกที่ 2 กล่าวถึงสมัยพระยามังราย ตอนขุนครามรบพระยาเลิกที่เมืองเขลางค์ ขุนครามแต่งกลให้ขุนเมืองเชริงเป็นปีกขวา ขุนเมืองฝางเป็นปีกซ้าย ยกพลเข้าโจมตี ความตอนหนึ่งว่า “..เจ้าขุนครามแต่งกลเสิกฉันนี้แล้วก็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้ง (ฆ้อง) ตีกลองชัย ยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเบิกยู้ขึ้นมาวันนั้นแล..”

กลองสะบัดชัยยังเป็นเสมือนสัญญาณบอกข่าวในชุมชน จากวรรณกรรมไทเขินเรื่อง เจ้าบุญหลง ตอนที่ชาวเมืองปัญจรนครผูกผุสรถเพื่อเสี่ยงเอาพระยาเจ้าเมือง อามายต์ได้สั่งให้เสนาไปป่าวประกาศ “..อมาตย์แก้วพรองเมือง หื้อเสนาเนืองเอิ้นป่าว ค้อนฟาดหน้ากลองไชยเสียงดังไปผับจอดรู้รอดเสี้ยงปัญจรนคร..”

นอกจากนั้นกลองสะบัดชัยยังเป็นเครื่องดนตรีในงานมหรสพ จากวรรณกรรมเรื่อง อุสสาบารส ตอนพระยากาลีพรหมทัตราชนำมเหสีสุราเทวีไปเที่ยวชมสวนอุทยานและมีเล่นมหรสพ กล่าวถึงการตีกลองสะบัดชัย ตอนหนึ่งว่า “..มหาชนก อันว่าคนทังหลายก็เหล้มโหรสพหลายประการต่าง ๆ ลางพร่องก็ตีกลองสะบัดไชยตื่นเต้น ลางพร่องก็ตีพาทย์ค้องการะสับ ลางพร่องเยียะหลายฉบับฟ้อนตบตีนมือ ลางพร่องปักกะดิกเอามือตางตีน..”

อาจารย์สนั่น ธรรมธิ นักวิชาการศึกษา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์บทบาทของกลองสะบัดชัยว่าในอดีตกลองสะบัดชัยนั้นจะเกี่ยวพันกับ “ฝ่ายอาณาจักร” กษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพทั้งนั้น ต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์ของล้านนาถูกลดอำนาจลงจนสูญสิ้นไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูงจึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ “ฝ่ายศาสนจักร” ดังนั้นวัดจึงเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัด หน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้นของกลองสะบัดชัยก็คือตีเป็น “พุทธบูชา” จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “กลองปูจา”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลองสะบัดชัยจะได้ทำหน้าที่ใหม่แล้ว ทว่าหน้าที่เดิมก็ยังคงเป็นเสมือน “สัญญาณ” เพราะเนื่องจากวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน ข่าวสารต่าง ๆ จึงมักออกจากวัด นอกจากนั้นการตีกลองสะบัดชัยยังเป็นสัญญาณเรียกประชุม สัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกนวันพระ และยังมีหน้าที่รองลงมาคือเป็น “มหรสพ” ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญสำคัญ อาทิ งานสลากภัต งานปอยหลวง เป็นต้น

อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ยังกล่าวถึงการตีกลองสะบัดชัยในโอกาสต่าง ๆ ว่าจะมีลักษณะและลีลาการตีไม่เหมือนกัน อย่างเช่นการตีเมื่อเวลามีประชุมหรืองานของส่วนรวมที่ต้องช่วยกันทำนั้น จะตีเฉพาะกลองใหญ่โดยเริ่มจากจังหวะช้าและเร่งเร็วขึ้น การตีเพื่อบอกเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไล่ขโมย จะตีเฉพาะกลองใหญ่มีจังหวะเร่งเร็วติด ๆ กัน ส่วนการตีเพื่อบอกวันพระวันโกน จะตีทั้งกลองใหญ่และกลองลูกตุบมีฉาบและฆ้องประกอบจังหวะ

ปัจจุบันเราจะเห็นว่า กลองสะบัดชัยถูกนำมาตีในโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น ลีลาการตีก็เปลี่ยนไปจากเดิมโดยจะมีการออกลีลาชั้นเชิง การออกลวดลายหน้ากลองของผู้ตีก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในเชิงการต่อสู้ของตน การออกอาวุธขณะตีนอกจากไม้ตีที่เรียกว่า “ค้อน” แล้วผู้ตียังใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอาวุธ เช่น หัว ศอก เข่า กำปั้น แต่ไม่ให้อวัยวะดังกล่าวสัมผัสกลอง เพราะถือว่ากลองสะบัดชัยเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ ในระยะหลังมีคนเห็นว่าการทำท่าเงื้อง่าใช้ศอก เท้า เข่า หมัด ก็ค่าเท่ากับการสัมผัสกลองเหมือนกัน ดังนั้นในระยะหลังจึงมีการใช้อวัยวะต่าง ๆ สัมผัสกลองได้ มีลีลาโลดโผนเข้มข้นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการตีในลักษณะดังกล่าว เรียกการตีแบบนี้ว่า “กลองรุงรัง”

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การตีกลองสะบัดชัยแบบหลังนี้ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีฝ่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูของหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นศิลปะการแสดงที่ตื่นเต้น เร้าใจและออกลีลาได้ชัดเจน กระทั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ได้บรรจุวิชาตีกลองสะบัดชัยเข้าในหลักสูตร โดยมีพ่อครูคำ กาไวย์ เป็นผู้ฝึกสอน ศิลปะในการตีกลองสะบัดชัยจึงเริ่มมีมาตราฐานและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น

ปัจจุบันการแสดงตีกลองสะบัดชัยเป็นที่นิยมแพร่หลาย รวมทั้งมีการประกวดและแข่งขันกันทุกปี การคิดค้นประดิษฐ์ท่าทางใหม่ ๆ เพื่อเอาชนะในการแข่งขันจึงเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต มีการแปรขบวน ต่อตัว พ่นไฟ มีการนำเอากลองตะหลดปด ซึ่งเป็นกลองประกอบจังหวะเฉพาะของกลองตึ่งนงมาประกอบด้วย ทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะมีการพัฒนาเลยเถิดจนขาดเอกลักษณ์ไปในที่สุด

เอกสารประกอบ : ความเป็นมาของกลองสะบัดชัย โดย อ.สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น