เปิดตัวเลขดัชนีเกษตร แนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 60 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 59 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญและผลไม้ที่เพิ่มขึ้น มั่นใจภาคเกษตรยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชี้มาตรการช่วยเหลือภาครัฐเป็นผล สะท้อนรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงทิศทางรายได้เกษตรกรปี 2560 ว่า เมื่อพิจารณาจากดัชนีรายได้เกษตรกร พบว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ขายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับประรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่าง ๆ และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในช่วง 10 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 156.50 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ถึงร้อยละ 7.98 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.69 จากแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านทำให้ทุกภูมิภาคของประเทศสามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น และยังมีน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับการทำการเกษตรฤดูแล้งปี 2561

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวต่อว่า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปี 2560 โดยพิจารณาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.6 จากการที่รัฐบาลได้เข้าส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรในการทำการการผลิตโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เน้นการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้างโพดเลี้ยงสัตว์) โครงการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร การขยับช่วงการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งโครงการและมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ได้เข้าไปมีส่วนช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำเหมือนที่ผ่านมา

สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ รัฐบาลได้เร่งรัดเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั้งเป็นการเฉพาะหน้า การชดเชยความเสียหาย และการฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการ 9101 เป็นต้น นายวิณะโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

หากมองหนี้สินครัวเรือนเกษตรปี 2560 จากการสำรวจของ สศก. ในเบื้องต้น พบว่ามีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2559 โดยหนี้สินครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40 เป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตและเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการจำหน่าย เช่น การซื้อวัสดุอุปกรณ์และปัจจัย การผลิต ค่าพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ค่าซ่อมแซมยุ้งฉาง/โรงเรือนเลี้ยงพืชสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของภาคเกษตรโดยรวมและสอดรับกับรายได้เงินสดทางการเกษตรของครัวเรือนปี 2560 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนเกษตรซึ่งสอดคล้องข้อมูลภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2560 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจภูมิภาคของไทยขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาคเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น