การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะ ภาษาอังกฤษเพื่อการทดสอบโอเน็ต ฯ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ” บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการทดสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3″ณ โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดี ที่ 4 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา
อาจารย์ ปณชนก ชาญไววิทย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ระดับชาติตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้ารับการทดสอบระดับชาติเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถใช้ผลการประเมินในการกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยได้ออกประกาศในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต (Ordinary National Education Test: O-NET) ทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลคะแนนสอบโอเน็ตมีความสำคัญมากต่อนักเรียนในระบบการศึกษาไทย เนื่องจากใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลคะแนนการสอบโอเน็ตต่อผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก สัดส่วน 80 : 20 ในระยะเริ่มแรก เป็น70 : 30 ในระยะต่อมา แต่จากสถิติที่ผ่านมา คะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยอยู่ที่ ร้อยละ 20 – 30 คะแนนเท่านั้น และมักจัดอยู่ในอันดับต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่น และนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำมากก็เป็นนักเรียนที่อยู่ในเขตชนบทห่างไกล เช่น โรงเรียนขยายโอกาส โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction: CAI) ที่นำมาใช้ในการอบรมครั้งนี้ จะนำเสนอเนื้อหาภาษาอังกฤษที่สัมพันธ์กับผังแบบทดสอบ (Test Blueprint) โอเน็ต โดยจะปรับวิธีการนำเสนอเนื้อหาให้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ ความสนใจ และลักษณะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 2 โดยออกแบบกิจกรรมที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์หาเหตุผล ปฏิบัติ แก้ปัญหา และเป็นผู้สรุปความรู้ ความคิดรวบยอดจากการคิด การปฏิบัติ โดยบทเรียนจะใช้ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียงและวีดีโอ ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือโต้ตอบกับนักเรียนได้เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลังจากจบบทเรียนในแต่ละส่วนก็จะมีการทบทวนคำศัพท์ สำนวนต่างๆ สรุปโครงสร้างภาษาที่ใช้ และมีการทดสอบย่อย เพื่อให้นักเรียนสามารถประเมินการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถย้อนกลับไปเรียนใหม่ได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเนื้อหาบทเรียน
การฝึกอบรมในครั้งนี้จะช่วยให้ครูที่สอนภาษาอังกฤษชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเครื่องมือพัฒนาผลคะแนนการทดสอบภาษาอังกฤษระดับชาติ (O-NET) ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน อันจะส่งผลถึงคุณภาพนักเรียน และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น สามารถนำความรู้ภาษาอังกฤษไปใช้ประกอบอาชีพสุจริต และกลับมาพัฒนาท้องถิ่นในอนาคตต่อไปได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น