ชูต้นยาง เอกลักษณ์ เมืองเชียงใหม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางเปิดโครงการวัฒนธรรมสู่ภาคท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี “ยางนาสารภี ศรีเชียงใหม่” พร้อมน้นย้ำนำเอกลักษณ์ความโดดเด่นของกลุ่มต้นยางนา สองฟากฝั่ง ของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการเพื่อเป็นการเปิดตัวต้นไม้ กลุ่มต้นยางนา ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คู่กับชุมชน ทำให้คนรู้จักรักษาคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังความเข้มแข็งให้กับชุมชน และยังสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสความเป็นมาของท้องถิ่นที่มีมาในอดีตกับปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถนำเอกลักษณ์ความโดดเด่นของกลุ่มต้นยางนา สองฟากฝั่ง ของถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สหการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คัดเลือกต้นไม้ใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้นไม้ใหญ่จำนวน 4 ต้นจาก 65 ต้นทั่วประเทศประกอบด้วยกลุ่มต้นยางนารักษ์สิ่งแวดล้อม ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ต้นจามจุรียักษ์ สโมสรยิมคานาเชียงใหม่ ต้นยางนาร่มมงคล วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ต้นมะจำโรง อำเภอสันป่าตอง ความภูมิใจของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีต้นไม้ที่บอกเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของชุมชน ทำให้คนรู้จักรักษาคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และนำมาซึ่งการสร้างรายได้ด้วยมิติทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

ด้านนายสัญญา พรหมศาสตร์ นายกเทศมนตรีตำบลสารภี กล่าวเพิ่มเติมว่า การสืบทอดวัฒนธรรมของชาติและความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ได้เล็งเห็นว่านอกเหนือไปจากมรดกภูมิปัญญาที่ได้แสดงออกผ่านภาษาศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้าน และเทศกาลประเพณีต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติโดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ จำนวนไม่น้อยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศไทยก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ปูมหลัง ที่มีตำนานเรื่องเล่าและความเชื่อที่มีความผูกพันกับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างช้านาน ต้นไม้ ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และเป็นมรดกล้ำค่าของชาติที่ก่อให้เกิดความสมดุลย์ของชีวิตและธรรมชาติซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น