เร่งปลุกชีพเกษตรไทย ก้าวสู่เกษตรกร 4.0

กระทรวงเกษตรฯ วางแนวทางรองรับพัฒนาเกษตรกรทุกระดับ ปูรากฐานการผลิตควบคู่การพัฒนาคนแบบระยะยาว เน้นนำวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ มั่นใจ เกษตรกรรายย่อยสามารถก้าวสู่เกษตรกร 4.0 ได้แน่ และมีภูมิคุ้มกัน สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรของประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อย และมีระดับการพัฒนาที่หลากหลาย ทำให้การพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรต้องอาศัยการกำหนดนโยบายและแผนที่สอดคล้องกับลักษณะของเกษตรกร แต่ละกลุ่ม จากข้อจำกัดดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางรองรับการพัฒนาเกษตรกร โดยกลุ่มเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้าในการทำการเกษตร มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดสู่เกษตร 4.0 ได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาหลายสถาบันเห็นพ้องต้องกันว่า เกษตรรายย่อยซึ่งยังมีจำนวนอยู่มาก ยังไม่สามารถก้าวข้ามเกษตร 2.0 ไปได้ จำเป็นต้องมีแนวทางและนโยบายในการพัฒนาเฉพาะ เช่น การสนับสนุนการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อย และมีการดูแลตามสถานการณ์ เช่น อุทกภัย และภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา โดยภาครัฐให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร

นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรสู่เกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้วางรากฐานการทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในภาคการเกษตรควบคู่กับการใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ตัวอย่างของการนำวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตลอด Supply Chain ได้แก่ โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมารวมกลุ่มรวมพื้นที่กันทำการเกษตรภายใต้การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกล และการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยการทำ Zoning จากแผนที่ Agi-map ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน อาทิ GAP และเกษตรอินทรีย์ และโครงการจัดตั้งศูนย์เกษตรอัจฉริยะ ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่จากมาใช้ในการทำการเกษตรในประเทศไทยโดยจะทดลองใช้กับพืชสำคัญก่อน คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่ไปกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ด้วยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงให้เกษตรกรจากสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น