สาธารณสุขเผย พบเด็กไทยป่วยสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคน!!

กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กไทยป่วยสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคน และเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นกว่าร้อยละ 50 จะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับคนอื่น และเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วย
นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เด็กที่ป่วยโรคสมาธิสั้น สาเหตุหลักในปัจจุบันเกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ที่กระตุ้นให้เด็กมีภาวะสมาธิสั้น มีอาการที่แย่ลง โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เด็กปฐมวัยอ่านออกเขียนได้ หรือการเลี้ยงดูให้เด็กอยู่กับสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งผิดจากธรรมชาติ ที่เด็กจะต้องได้เล่นอย่างเหมาะสมกับวัย โดยอาการสมาธิสั้นจะมีอยู่ในเด็กทุกคนอยู่แล้ว
เพราะว่าสมองจะมีสารบางชนิดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะมีอาการสมาธิสั้น อาจจะมีสารบางอย่างที่พร่องจากเด็กทั่วไป หากผู้ปกครองเลี้ยงดูอย่างผิดๆ และฝืนธรรมชาติของเด็ก ก็จะทำให้อาการแย่ลง

ด้านของ นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ร้อยละ 50 หรือว่าราวๆ 5 แสนคน จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับคนอื่น แล้วเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วย ทั้งนี้โรคสมาธิสั้นในเด็กเกิดจากภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติ และที่สำคัญ 3 ด้าน คือ สมาธิสั้นกว่าปกติ มีความสนใจต่ำ, ซุกซนผิดปกติ และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น
นอกจากนี้ สถิติเด็กอายุ 6-12 ปี ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นในประเทศไทย ซึ่งจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2555 พบว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งพบในเด็กชายมากที่สุด ร้อยละ 12 มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่พบ ร้อยละ 10 โดยอาการสมาธิสั้นส่วนใหญ่ที่พบในเด็กอายุก่อน 7 ปี ก็จะมีอาการต่อเนื่อง นานกว่า 6 เดือน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านลบและติดตัวไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกอย่างเช่น การต่อต้านสังคม เกเร ใช้ความรุนแรง รวมถึงเสี่ยงติดยาเสพติด และเกิดภาวะซึมเศร้า

ทางด้านของแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อช่วยติดตามดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น โดยบูรณาการติดตามร่วมกัน ระหว่างครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์ โดยแอปพลิเคชั่นตัวนี้ สามารถให้ความรู้เรื่องโรค การประเมินลักษณะอาการเด็ก ด้วยแบบมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต และสามารถติดตามผลความก้าวหน้าของสมาธิเด็กที่สมาธิสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน และพฤติกรรม รวมถึงประเมินความเครียด

เพื่อให้ผู้ปกครอง ครู จัดแบบแผนชีวิตประจำวันของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นให้เหมาะสม คาดว่าจะทดลองใช้แอปพลิเคชั่นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 และจะปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพ ก่อนขยายผลใช้ทั่วประเทศต่อไปโดยเร็ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น