สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมศูนย์การเรียนชุมชน ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านป่ากำ และศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 เวลา 09.25 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านป่ากำ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โดยมีราษฎรบ้านป่ากำ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ พร้อมแสดงดนตรี เพื่อแสดงถึงการต้อนรับผู้มาเยือน ทั้งนี้ ราษฎรบ้านป่ากำ อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่หมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อประมาณปีกว่า เป็นชนชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะปรัย ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างดี เช่น การสร้างบ้านรูปทรงดั้งเดิมยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยหญ้าคาคลุมเกือบถึงพื้นดิน ปัจจุบันมี 28 ครัวเรือน ประชากร 194 คน มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีสามีและภรรยาคนเดียว ฝ่ายหญิงเป็นผู้สืบสกุล ทำไร่ข้าวเป็นหลัก
อาชีพเสริมคือการหาของป่า ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง ในฤดูฝนเดินทางยากลำบาก ในการนี้ทรงทอดพระเนตรภาพถ่ายแสดงวิถีชีวิตของชาวลัวะปรัย ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เข้าไปศึกษาวิจัย และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านชาวลัวะปรัย ดั้งเดิมแห่งสุดท้ายจากนั้น ทรงติดตามการดำเนินงานของ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านป่ากำ

ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ปัจจุบันมีครู 2 คน คอยส่งเสริมสนับสนุนการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ทุกคนในชุมชนตามความเหมาะสม และความสนใจ ทั้งยังทรงติดตามโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ มีผู้เข้าร่วม 8 ครอบครัว ปลูกป่าในแปลงรวม และพื้นที่แต่ละครอบครัว รวม 38 ไร่ มีทั้งไม้ป่าและไม้เศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่มีรายได้จากโครงการ
คาดว่าปีหน้าจะมีรายได้จากผลผลิตกาแฟ และการดำเนินงานต่อไป จะได้ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ รวมทั้งปลูกไม้ท้องถิ่น และหญ้าแฝกด้วย ในโอกาสนี้ ทรงเปิดอาคารสุขศาลาพระราชทานบ้านป่ากำ เป็นสุขศาลาพระราชทาน 1 ใน 3 แห่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นใน จ.น่าน เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลขั้นต้น และการสาธารณสุขแก่ประชา ชนในพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ก่อสร้างอาคาร พร้อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มีพนักงานสาธารณสุข 1 คน โดยดูแลชาวบ้านป่ากำ และใกล้เคียง รวม 4 กลุ่มบ้าน จำนวน 518 คน นอก จากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้สนับสนุน ด้านการอบรมพัฒนาบุคลากร สนับสนุนเวชภัณฑ์ยาจำเป็น และอุปกรณ์ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎร

เนื่องจากนับถือหมอผี เมื่อเจ็บป่วยมักไม่ไปพบแพทย์ ยกเว้นมีอาการรุนแรง และส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก ให้มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย ในการนี้ ทรงเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่ากำ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ปัจจุบันมีเด็ก 16 คน ครู 1 คน จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านสว้า ห้องเรียนสาขา บ้านป่ากำ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 มีนักเรียน 27 คน , ครู และบุคลากร 3 คน หลังจบการศึกษาสามารถศึกษาต่อที่โรงเรียนบ้านสว้าได้ ปัจจุบันดำเนินงานพัฒนานักเรียนตามเป้าหมาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ จากผลการประเมินชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือเอ็นที
เปรียบเทียบปีการศึกษา 2558 กับ 2559 พบว่าผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ดีขึ้น ส่วนด้านจริยธรรมส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก ในการนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตกิจกรรมกาแฟครบวงจรของโรงเรียนบ้านสว้า ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ ตั้งอยู่บริเวณด้านล่าง และจัดตั้งร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยปลูกกาแฟบนพื้นที่สูงด้านบน สำหรับการดำเนินงานตามเป้าหมายอื่น มีการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งเสริมความรู้ทักษะ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับอุดมการณ์สหกรณ์ของนักเรียน ความรู้ และทักษะด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน

ในการนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่ให้บริการแก่ผู้เจ็บป่วย ที่ผ่านมาสถานพยาบาลในพื้นที่ ได้เข้าไปตรวจติดตามสุขภาพของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังมีสุขศาลาพระราชทานบ้านป่ากำ ให้บริการแก่ประชาชนด้วยโอกาสนี้ ได้พระราชทานค่าใช้จ่ายแก่ครอบครัวผู้ป่วยเด็ก สำหรับเป็นค่าเดินทางไปรักษา ณ โรงพยาบาลทั้งในจังหวัดและจังหวัดอื่น และทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองพระบาท รับเสด็จฯ เวลา 14.11 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร และคณะอนุกรรมการโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 ซึ่งมีวาระการประชุมต่างๆ

อาทิ แนวทางการดำเนินงานโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้านอำนวยการ ด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โอกาสนี้ ทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนท้องถิ่น สนองพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2542 ในด้านการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ขยายผลสู่ประชาชนและเกษตรกร มีพื้นที่ดำเนินงาน 1,812 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 127 ราย และได้ขยายผลไปสู่ชุมชนโดยรอบ

ปัจจุบันเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ให้เหมาะสมกับพื้นที่สูง โดยทำเกษตรแบบผสมผสานคู่กับการฟื้นฟูสภาพป่า ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นควบคู่กับไม้เศรษฐกิจ ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย โดยในปี 2560 สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายหม่อนผลสด , กล้วย , ชาอูหลง , เมี่ยง และต๋าว สูงสุดเป็น 5 ลำดับแรก นอกจากนี้ยังแปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า ทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดภายใต้ตราสินค้า “ภูฟ้า” อาทิ กล้วยอบ , กล้วยฉาบหวานและเค็ม , กล้วยสุกกรอบ , น้ำหม่อนพร้อมดื่ม , หม่อนกวน , ชาเขียวอินทรีย์ , ชาอูหลงอินทรีย์ , ต๋าวอบแห้ง , ต๋าวในน้ำเชื่อม รวมทั้งการปลูกข้าว แปรรูปเป็นข้าวก่ำภูฟ้า

จากนั้นทรงติดตามการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา แก่นักเรียนที่อยู่ใน อ.บ่อเกลือ และ อ.เฉลิมพระ เกียรติ ซึ่งบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้การสนับสนุนติดตั้งอุปกรณ์ สื่อไอซีที เพื่อการศึกษาในทุกห้องเรียน รวมทั้งสนับสนุนหลักสูตรและสื่อดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้ โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมกลุ่มอาชีพนอกภาคการเกษตรของชุมชน อ.บ่อเกลือ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่มีการรวมกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ กลุ่มจักสานจากไม้ไผ่ , การผลิตชาต้นอ่อนข้าวสาลี , การทำกระดาษจากฟางข้าว , การปลูกกาแฟบ้านห้วยโทน ซึ่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ,การมัดย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ , การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ใยบวบ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะส่งไปจำ หน่ายภายใต้ตราสินค้า “ภูฟ้า” สร้างรายได้ให้กับสมาชิกและกลุ่มเกษตรกรด้วย

ต่อจากนั้น เสด็จฯไปยังศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทอดพระเนตรการพัฒนาชุมชน “มละบริ” ซึ่งมละบริ หรือตองเหลือง เป็นชนเผ่าดั้งเดิมในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรเอเชียติก สาขาขมุ เดิมเป็นกลุ่มชนเร่ร่อน ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร ปัจจุบันมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมภายนอก อพยพมาตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จำนวน 17 ครัวเรือน เริ่มพัฒนาชุมชนของตนเองในด้านต่างๆ อาทิ ด้านพัฒนาการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ มีการปลูกข้าว ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา และเพาะเห็ด ไว้เป็นอาหาร แบ่งกันภายในชุมชนให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่าย สำหรับผลผลิตข้าวในปี 2560 มีการปลูกข้าวนาดำ จำนวน 18 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 12,000 กก. แบ่งจ่ายค่าเช่าที่นา 2,500 กก.

ส่วนที่เหลือนำไปบริโภคในชุมชน ได้ประมาณ 5 ถึง 6 เดือน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ที่เป็นพืชอาหาร พืชสมุนไพร และทำการปลูกเสริมในพื้นที่รอบชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นภูมิปัญญาการดำรงชีวิตในป่า ด้านการศึกษา ให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป มีการบูรณาสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งจัดทำหลักสูตรพิเศษ มละบริวิทยา สอนถึงวิถีชีวิต ข้อห้ามความเชื่อ ภาษาและวัฒนธรรมของชนเผ่า โดยเปิดทำการสอน ที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง “มละบริภูฟ้า” ปัจจุบันเปิดสอนในระดับชั้นปฐมวัย ถึงระดับชั้น ป. 6 มีนักเรียน 25 คน รวมทั้งยังขยายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนที่จบการศึกษา ระดับชั้น ป.6 สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ผ่านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้นักเรียนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

ด้านอาชีพและรายได้ มีการส่งเสริมการทำหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การสานกระเป๋าจากเถา วัลย์ป่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้นำไปจำหน่ายภายในร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชนเผ่าและบริหารเพื่อเป็นการสร้างรายได้ นอกจากนี้ มีการทำแหล่งศึกษาเรียนรู้ สำหรับศึกษาดูงานและท่องเที่ยวในศูนย์วัฒนธรรม รวมทั้งการจัดทำบัญชีครัวเรือน การเก็บออมเงิน และจัดทำกองทุนส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น