รองนายกรัฐมนตรี/รมว.กระทรวงยุติธรรม เปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย

รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงยุติธรรม ขึ้นเหนือเยือน จ.เชียงใหม่ พร้อมเปิดศูนย์ประ สานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ประจำปี 2561 และหารือกับประเทศสมาชิกโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ทั้ง 5 ประเทศ วางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในลุ่มแม่น้ำโขง และพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 19 ม.ค.2561 ที่ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย จ.เชียงใหม่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี/รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong Coordination Centre – SMCC) ประจำปี 2561 ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผช.รมต.ประจำกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สอาดพรรค น.ส.ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล คณะทำงาน รมว.กระทรวงยุติธรรม นายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 และพล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5

โดยมี นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. คณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งได้ร่วมหารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม

โดยโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ริเริ่มโครงการฯ โดยประเทศจีน มาตั้งแต่ปี 2556 และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการของการดำเนินงานมาโดยลำดับ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในลุ่มแม่น้ำโขง และพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยแต่ละประเทศจัดสรรทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณ กำลังพล และเครื่องมืออุปกรณ์เข้ามาดำเนินการตามศักยภาพ และกรอบอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ

มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตยาเสพติด ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ และในขณะเดียวกันก็สกัดกั้นยาเสพติด ที่ผลิตจากสามเหลี่ยมทองคำ ไม่ให้ออกไปแพร่กระจายในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยประเทศสมาชิกได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย เป็นศูนย์กลางการประสานงานของทุกประเทศ และได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศจีน เมียนมา และไทย ได้รับเป็นเจ้าภาพมาแล้ว สำหรับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยในครั้งนี้ของประเทศไทย ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทย โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยเป็นการถาวร เป็นแบบอย่างนำร่องให้กับประเทศสมาชิกต่างๆ ได้ถือเป็นแนวทาง

สำหรับ การประชุมวันนี้ได้ร่วมหารือในสาระสำคัญ 6 เรื่อง คือ 1. การสร้างเป้าหมายร่วมกันที่จะดำเนินการต่อพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 2. การยกระดับความร่วมมือในการดำเนินการในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 3. การให้ความสำคัญของการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด 4. การผนึกกำลังร่วมกันของทั้ง 6 ประเทศในการกำหนดเครือข่ายการผลิตและค้ายาเสพติด ที่สำคัญในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 5. การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และ 6. อนาคตของความร่วมมือกันของ 6 ประเทศ ซึ่งจะต้องมีการทำแผนความร่วมมือในการสกัดกั้น และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำต่อไปอีก และน่าจะเป็นแผนระยะยาว

โดยอาจใช้ระยะเวลาเดียวกันกับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และแผนความร่วมมือนี้ จะเป็นแผนความร่วมมือด้านยาเสพติด แบบที่ทั้ง 6 ประเทศได้ดำเนินการมาแล้ว ในโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ระยะ 3 ปี (2559 – 25 61) ที่กำลังใช้อยู่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทั้ง 6 ประเทศ ที่จะแลกเปลี่ยนความคิด สถานการณ์ การกำหนดเป้าหมาย การเสนอมาตรการ และแผนงาน โดยเสนอให้ครอบคลุมมาตรการต่างๆ ที่ทำมาแล้ว รวมทั้ง มาตรการการพัฒ นาทางเลือก เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร

ซึ่งหากทุกประเทศได้ดำเนินการและเห็นพ้องกันแล้ว ควรจะมีการลงนามให้การรับรองอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือในด้านยาเสพติดอย่างแท้จริง ในช่วงก่อนเสร็จสิ้นแผน ระยะ 3 ปีนี้ ซึ่งจะได้มีการหารือกันต่อไป ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันที่จะร่วมปฏิบัติการตามโครงการแม่น้ำโขง ปลอดภัยอย่างเต็มความสามารถ เพื่อช่วยลดปัญหายาเสพติดในสังคมโลก ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

จากนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี/รมว.กระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ ของกองกำลังผาเมือง ตำรวจภูธรภาค 5 และตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น