แอ่ว “พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา” ในหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในช่วงวันหยุดใครหลาย ๆ คน อาจจะคุ้นเคยกับการพักผ่อนอยู่กับบ้านหรือการเดินทางไกลไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ที่แวดล้อมด้วยความงามของธรรมชาติ แต่ใครจะรู้บ้างว่าสถานที่ ๆ เต็มไปด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายของวัฒนธรรมล้านนา ความงามของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่งดงามในอดีตซึ่งสวนกระแสกับความเจริญของสังคมและโลกยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนั้น ได้ถูกซ่อนตัวและรอการค้นพบอยู่ในบริเวณตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ใกล้ ๆ นี่เอง ในสถานที่ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2536 โดยแต่เดิมนั้นเป็นเพียงโครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2528 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานสำคัญของชาติ สนับสนุนและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตล้านนาอันเป็นแหล่งสะสมศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีประวัติ-ศาสตร์และมรดกอันทรงคุณค่ามาถึง 700 กว่า ปี

และหลังจากที่ได้จัดตั้งเป็นสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงได้มีความพยายามที่จะอนุรักษ์เรือนโบราณของล้านนาขึ้น เริ่มจากการสำรวจเรือนที่ควรแก่การอนุรักษ์และรื้อย้ายมาปลูกใหม่ในบริเวณ ที่ทำการของสำนักฯ เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันได้อนุรักษ์และรวบรวมเรือนโบราณประเภทต่าง ๆ ไว้จำนวน 7 หลัง เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์อันได้แก่ เรือนคิวริเปอล์ (เรือนลุงคิว) เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) เรือนกาแล (พญาวงศ์) และยุ้งข้าวหรือหลองข้าว เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) เรือนทรงปั้นหยา (หลวงอนุสารสุนทร) ซึ่งปัจจุบันสำนักส่งเสริมฯ ได้ทำการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์แบบมีชีวิต (live museum) ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนและรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม
เรือนลุงคิวอันเป็นที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมนั้น เป็นอาคารรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกหรือทรงอาณานิคมหรือแบบโคโลเนียล สร้างขึ้นราว พ.ศ.2465 เจ้าของเดิมคือ Mr. Arther Lionel Queripel ในอดีตบ้านหลังนี้เคยปลูกไม้ดอกและไม้ผลนานาชนิดโดยเฉพาะสตรอเบอรี่ นายคิวริเปอล์คือคนแรกที่นำมาปลูกในเมืองไทย ต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดให้อาคารหลังนี้เป็นสถานที่ทำการของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา

เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) เดิมเป็นของอุ๊ยตุด ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอ ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2460 เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง มีลักษณะสองหลังหน้าเปียง ด้านตะวันออกเป็นเรือนนอนโล่งกว้าง ด้านตะวันตกเป็นเรือนครัว ระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันเป็นรางน้ำฝนเรียกว่า “ฮ่องลิน” หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด เรือนหลังนี้มูลนิธิจุมภฏ- พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2536
เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2460 เดิมตั้งอยู่ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนหลังนี้มีลักษณะเด่นของเรือนกาแลคือ มีหำยนต์ติดบริเวณด้านบนของประตูห้องนอนเพื่อทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์คอยป้องกันและขับไล่อันตรายต่าง ๆ จากภายนอก มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์และอาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2537
เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) เดิมเป็นของอุ๊ยอิ่นและอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา ตั้งอยู่ที่บ้านสันต๊กโต (สันติธรรม) แจ่งหัวลินใกล้ ๆ กับถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปแบบเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังเป็นแบบบ้านชนบทแต่ทำฝาและประตูหน้าต่างแบบใหม่ อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ซื้อเรือนหลังนี้ไว้และมอบให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมูลนิธิยาคาซากิ มหาวิทยาลัยเกียวโต เซกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2540
เรือนกาแล (พญาวงศ์) เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาทรงหน้าจั่ว มีลักษณะเด่นคือ “กาแล” ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล ลักษณะเป็นไม้แกะสลักยื่นเลยจากปั้นลมไปไขว้กันที่ยอดจั่วเรือน เดิมเป็นของพญาวงศ์ อยู่ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ลูกหลานของพญาวงศ์ได้สืบทอดบ้านหลังนี้มาราว 3 รุ่น ต่อมาได้ย้ายไปปลูกในวัดสุวรรณเจดีย์ จังหวัดลำพูน นายแฮร์รี่ วอง ได้ซื้อไว้จนกระทั่งในปี พ.ศ.2541 มูลนิธิ ดร.วินิจ–คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยุ้งข้าวหรือหลองข้าวของเรือนกาแล (พญาวงศ์) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา ใช้เก็บข้าวเปลือกไว้กินตลอดปี มีลักษณะเฉพาะเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง มีระเบียงโดยรอบ หลังคาลาดต่ำคลุมระเบียงและมีจั่ว คุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์และครอบครัว ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และรื้อย้ายมาปลูก ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2542
เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง ลักษณะเป็นเรือนหลังคาทรงจั่ว สองจั่วเหลื่อมกัน ระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันเป็นรางน้ำฝนเรียกว่า “ฮ่องลิน” เดิมตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นราว พ.ศ.2439 เจ้าของเดิมคือพญาปงลังกา ซึ่งมอบเรือนไว้ให้แก่บุตรหลานได้สืบทอดกันมา 5 รุ่น ต่อมาคุณจรัส วณีสอน และน้อง ๆ ได้มอบเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2547
เรือนทรงปั้นหยา (หลวงอนุสารสุนทร) เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ดินเผา (ดินขอ) ลักษณะเป็นทรงปั้นหยาเหลื่อมซ้อนกันอย่างลงตัวผสมผสานกับหลังคาทรงจั่ว ชั้นบนของตัวเรือนมีระเบียงทางเดินอยู่ด้านหน้าห้องโถงใหญ่จนถึงด้านหลังบ้าน หลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยง ชุติมา ได้สร้างบ้านหลังนี้ให้บุตรชายคือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2467 เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร อยู่ในความครอบครองของบริษัทสุเทพ จำกัด ต่อมาทายาทได้มอบเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2547
ภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ยังมีศูนย์ศึกษาวิจัยสปาล้านนาศึกษาที่เป็นแหล่งการวิจัยและฝึกอบรมแก่ผู้ให้บริการสปาเพื่อสุขภาพหลายหลักสูตร อาทิ หลักสูตรความรู้พื้นฐานสปาเพื่อสุขภาพ หลักสูตรผู้ดำเนินการธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ และหลักสูตรพิเศษระยะสั้นเพื่อความก้าวหน้าในวิชาการ ด้านสปา และทางศูนย์ฯ ยังเน้นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านศิลปะการนวดแบบล้านนาอีกด้วย
นอกจากผู้ที่มาเยี่ยมชมจะได้สัมผัสกับเสน่ห์ของการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์แล้ว ทุกท่านยังจะได้เก็บเกี่ยว ซึมซับและเรียนรู้เรื่องราวของวัฒนธรรมล้านนาอันจะนำมาซึ่งประโยชน์และกำไรของชีวิต ทำให้ เข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เคยเกิดขึ้น ได้เห็นมุมมองและความงดงามของวิถีชีวิตในอดีตที่สะท้อนความคิดและการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตและสังคมได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับท่านที่ยังไม่รู้ว่าจะไปพักผ่อนยังสถานที่ใด ขอเชิญทุกท่านลองใช้โอกาสนี้ไปเปิดโลกทัศน์และค้นหามุมมองใหม่ ๆ ของชีวิตได้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมฟรีทุกวัน เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น. มาร่วมกันเปิดหน้าประวัติศาสตร์อารยธรรมล้านนา ที่รอให้ท่านมาร่วมบันทึกความทรงจำและเก็บภาพความประทับใจ แล้วท่านจะรู้ว่าความสุขและความอิ่มเอมใจนั้นอยู่ไม่ไกลตัวท่านเลย

เรียบเรียงโดย
นภาวรรณ อาชาเพ็ชร, อภิวันท์ พันธุ์สุข
ภาพประกอบโดย
จรัสพันธ์ ตันตระกูล
15/1/61

ร่วมแสดงความคิดเห็น