โครงการหลวงขุนแปะ ฟื้นชีวิตราษฎรชาวเขา

ณ ที่ซึ่งมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับกับที่ราบบริเวณหุบเขา ทั้งยังมีลำห้วย 2 สายไหลผ่าน คือ ลำห้วยแม่แปะและลำห้วยดินผึ้ง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านขุนแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางเชียงใหม่ – ฮอด ประมาณ 103 กิโลเมตรสามารถเดินทางโดยรถยนต์ด้วยระยะเวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที นั่นคือ บริเวณที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ แห่งนี้ได้ก่อตั้งเมื่อ ปี 2527 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงได้รับทราบว่าในพื้นที่บริเวณนี้ประชาชนซึ่งเป็นชาวเขา เผ่ากะเหรี่ยงและแม้วต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจนประกอบอาชีพด้วยการทำนาและมีการปลูกฝิ่นกันเป็นอย่างมาก โดยที่มีการบุกรุกเข้าไปทำลายป่าไม้ด้วย และผลผลิตที่ได้รับก็ต่ำลงทุกปี รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่ยังเข้าไปไม่ถึง การคมนาคมไม่สะดวก และด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแส รับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวงโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เสด็จสำรวจพื้นที่และสภาพที่ชาวเขาต้องการความช่วยเหลือ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 งานสนองพระราชดำริจึงได้เริ่มขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้นทั้ง ในด้านคุณภาพชีวิตและสังคม มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 11 หมู่บ้าน ราษฎร 365 ครอบครัวงานขั้นต้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ เริ่มดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และมีหน่วยงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่และมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังนี้
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักพัฒนาที่ดินเขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการจัดระบบและจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่เกษตรกร จำนวน 22 ไร่ พร้อมทั้งสร้างฝายเก็บน้ำพร้อมระบบจำนวน 1 ฝาย
กรมชลประทาน ดำเนินการจัดสร้างฝายเก็บน้ำจำนวน 2 ฝาย และอ่างเก็บน้ำโดยรอบหมู่บ้านพร้อมกับต่อท่อน้ำลงมาให้ช่วงหนึ่งเพื่อที่จะให้เกษตรกรช่วยเหลือตนเองด้วยการจัดหาท่อสำหรับต่อน้ำ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการจัดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก ๆ จำนวน 1 โรง เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าบริการให้แก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ และบริเวณหมู่บ้านข้างเคียง
อำเภอจอมทอง ดำเนินการจัดทำทะเบียนราษฎร์ พร้อมกับให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงการดูแลรับผิดชอบด้านการปกครองในท้องถิ่น
สาธารณสุขอำเภอจอมทอง ดำเนินการจัดสร้างสถานีอนามัยบ้านขุนแปะสำหรับให้บริการด้านสาธารณสุขแก่เกษตรกรและชุมชน
ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วมปนทราย การเกาะยึดเม็ดดินค่อนข้างต่ำและง่ายต่อการพังทลาย การส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพเกษตรกรรมของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการคัดเลือกชนิดของพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกเพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ เกษตรกร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ได้ดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังนี้
งานส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวและพืชอื่น ซึ่งพืชที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ให้การส่งเสริมคือ ผักและไม้ผลเมืองหนาวโดยจะเน้นที่การปลูกไม้ผล ได้แก่ บ๊วย พลัม และพลับ สำหรับผักเมืองหนาวที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ให้การส่งเสริม ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมใบแดง ผักกาดหวาน สลัดบัตเตอร์เฮด เอ็นไดว์ ผักกาดฮ่องเต้ และถั่วลันเตาตลอดจนการส่งเสริมให้เกษตรกรปลุกกาแฟ เสาวรส และพืชไร่อื่น ๆ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์ และถั่วแดง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นหากแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ในระยะต้น ๆ นั้นเกิดจากการที่เกษตรกรไม่ให้ความร่วมมือในการเพาะปลูกพืชที่ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงขุนแปะให้การส่งเสริมซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยความไม่เข้าใจในระบบการทำงานของศูนย์พัฒนา โครงการหลวงขุนแปะและเห็นว่าการปลูกไม้ผลต่าง ๆ ให้ผลผลิตช้า เมื่อได้รับคำแนะนำ และชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะให้เกษตรกรได้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างถาวร ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงประโยชน์ของป่าไม้ไปพร้อม ๆ กันด้วยแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายลงไปได้ด้วยดี
งานส่งเสริมด้านการเลี้ยงสัตว์ ด้วยการจัดตั้งกองทุนวัคซีนขึ้นและให้ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการโดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ
งานด้านสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะได้พัฒนาในระยะเริ่มการดำเนินงานด้วยการจัดหาประปาภูเขาทำบ่อเก็บน้ำในหมู่บ้านจำนวน 10 หมู่บ้าน สำหรับการอุปโภคตลอดจนส่งเสริมให้ราษฎรมีส้วมใช้อย่างถูกสุขลักษณะทุกหลังคาเรือน ด้วยการแนะนำและจัดทำอุปกรณ์ในการสร้างให้แก่ชาวเขาในเขตรับผิดชอบ
งานพัฒนาด้านการจัดตั้งกลุ่มเพื่อสนับสนุนงานด้านต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนปุ๋ยขึ้น 6 กลุ่ม เพื่อที่จะเป็นหน่วยกลางในการจัดหาปุ๋ยสำหรับบริการให้แก่สมาชิกในราคาถูก และการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรโดยมีเยาวชนเข้าร่วมขึ้นจำนวน 3 กลุ่ม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นต้น
งานให้การศึกษาและเพิ่มพูนความรู้แก่เกษตรกร เช่น การฝึกอบรมผู้นำเยาวชน การดูงานส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งอื่น เป็นต้น
งานอนุรักษ์ป่าไม้ด้วยการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์ คือ พื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และบริเวณป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ จะห้ามไม่ให้ราษฎรบุรุกเข้าไปตัดทำลาย 2.ป่าใช้สอย คือ พื้นที่ป่าที่ราษฎรเข้าไปบุกรุกตัดไม้จนกระทั่งกลายเป็นป่าที่มีสภาพเสื่อมโทรมซึ่งในป่าส่วนนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะจะอนุโลมให้ราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่สำหรับปลูกพืชผลไม้สำหรับงานด้าน การปลูกป่านั้นอยู่ในความดูแล รับผิดชอบของกรมป่าไม้ โดยที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ พยายามสร้างป่าด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผลหรือป่าที่กินได้ พร้อม ๆ กับการสนับสนุน และส่งเสริมการจักตั้งกลุ่มอนุรักษ์บนที่สูงภายในหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการที่มี การแบ่งเขตความรับผิดชอบในการดูแลพื้นที่ป่าไม้พื้นที่ในเขตความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ส่วนหนึ่งจัดเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่อาศัยน้ำในการอุปโภคบริโภคจากฝายและอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทาน ได้จัดสร้างไว้ ซึ่งมีให้ใช้ได้ตลอดปี ถึงแม้ว่าถนนหนทางอันขรุขระที่ทอดตัวผ่านขุนเขา ที่เรียงรายสลับซับซ้อนเข้าสู่หมู่บ้านขุนแปะจะยังคงความยากลำบากสำหรับการคมนาคม แต่ทว่าธรรมชาติก็ได้มอบสิ่งทดแทนให้แก่ชีวิตทุกชีวิต ณ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ไว้แล้ว
ในวันนี้ สภาพพื้นที่โดยรอบบริเวณบ้านขุนแปะ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ได้เปลี่ยนแปลง ไปผืนดิน ได้ถูกพลิกฟื้นจากไร่ฝิ่นไปสู่ไร่แห่งธัญพืช ทุกครอบครัวมีรายได้หลักจากการปลูกพืชผัก ทุกชีวิตมีสุขภาพ อนามัยดีขึ้นได้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยทั้งผืนป่าและชีวิตที่ยากไร้ ของราษฎรที่อาศัยอยู่ ณ บ้านขุนแปะแห่งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น