ระดมความคิด เร่งหารือ อนาคตข้าวไทย


ภาครัฐ-เอกชน ระดมร่วมหลายหน่วยงานเร่งหารืออนาคตข้าวไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยทุกมิติ เพื่อให้ไทยสามารถผลิตข้าวเพียงพอต่อความต้องการของตลาด หลังปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง มาจากแนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวลดลง เผยปริมาณสต็อกข้าวของโลกในปี 60 สูงถึง 140 ล้านตัน นับว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการอนาคตข้าวไทยเพื่อความยั่งยืน พร้อมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายชัดเจนที่มุ่งยกระดับสินค้าเกษตร สร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น ดังนั้น งานนี้ภาครัฐจึงต้องการจัดขึ้นเพื่อให้หลายหน่วยงานรวมพลังระดมความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยทุกมิติ เพื่อให้ไทยสามารถผลิตข้าวเพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยที่ผ่านมาปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง มาจากแนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวลดลง สะท้อนได้จากปริมาณสต็อกข้าวของโลกในปีที่ผ่านมา(60) สูงถึง 140 ล้านตัน และนับว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่สต็อกข้าวโลกสูงเกิน 100 ล้านตันมา4-5ปีแล้ว ทำให้ต้องวางแผนให้เหมาะสม ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวไทยในปี 2561/2562 จะอยู่ที่ 30.4 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 19.8 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ราคาข้าวในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 15,000 – 16,000 บาท และข้าวขาวจะอยู่ที่ตันละ 7,000 – 8,000 บาทต่อตัน พร้อมมองว่า แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในการผลิตข้าวที่ตรงกับความต้องการของตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม ในงานประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการอนาคตข้าวไทยเพื่อความยั่งยืน มีตัวแทนภาคเอกชน เกษตรกร และภาครัฐ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมข้าวไทย รวมตัวกันกว่า 200 คน ซึ่งช่วงเช้ายังได้แบ่งประชุมเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตลาดทั่วไป (Mass market) เพื่อหารือกำหนดความต้องการใช้ข้าว เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มตลาดเฉพาะ(Specialty market) เน้นการส่งเสริมการตลาดโดยใช้ตลาดนำการผลิต รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพข้าว และกลุ่มตลาดสินค้านวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม เน้นการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำมาต่อยอดเชิงนวัตกรรมทางการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยความคิดเห็นทั้งหมดจะนำไปรวบรวมกำหนดมาตรการและนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ และการดำเนินนโยบายของภาครัฐให้เป็นรูปธรรมต่อไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น