เอสเอ็มอีไทยฟื้นแต่ยังมีกังวล ค่าจ้างแรงงาน


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจเอสเอ็มอีไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ แต่ยังกังวลอัตราแลกเปลี่ยนและค่าจ้างแรงงานขึ้น วอนภาครัฐช่วยดูแล
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีและดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส 4/2560 จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,202 ตัวอย่างทั่วประเทศ แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 77 และธุรกิจขนาดกลางร้อยละ 23 ว่าดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 4/2560 อยู่ที่ระดับ 42.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์สภาพคล่อง การระบายสต๊อกวัตถุดิบ หนี้สินรวม สัดส่วนหนี้สินต่อทุน และยอดขายรวมปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ขณะที่กำไรสุทธิ กำไรสะสม สินทรัพย์รวมปรับตัวลงเล็กน้อย พร้อมคาดการณ์ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 1/2561 มีทิศทางดีขึ้น โดยคาดค่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 42.8
ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจไตรมาส 4 /2560 อยู่ที่ระดับ 50.2 ลดลง 0.1 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยเนื่องจากผลกระทบต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและการแข่งด้านราคา โดยสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านบัตรสวัสดิการเฟส 1 และเฟส 2 ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เม็ดเงินจากการปรับขึ้นค่าแรงที่จะเริ่มวันที่ 1 เมษายน 2561 ทำให้มีเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30,000 ล้านบาท และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้กำลังซื้อมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงมองว่าสถานการณ์เอสเอ็มอีไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว และเชื่อว่ายอดขายจะดีขึ้นไตรมาส 3 และจะเห็นกำไรชัดเจนดีขึ้นไตรมาส 4
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำโดยรวม ยอมรับว่าเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการปรับตัว โดยอาจใช้รูปแบบการไม่เพิ่มจำนวนแรงงาน การนำเครื่องจักรมาใช้ และการพัฒนาระบบไอทีมาใช้ในการลดต้นทุน ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวมองว่าจะไม่กระทบต่อการจ้างงาน เพราะปัจจุบันไทยยังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเรียกร้องให้ภาครัฐดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ลดลง ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้ออกวงเงินสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง วงเงินกว่า 70,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมกับมาตรการของสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มีมาตรการเสริมเพื่อลดผลกระทบให้กลุ่มเอสเอ็มอีอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น