ปปส.ภาค 5 ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. นำเสนอผลงานวิชาการ เพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภออมก๋อย

สำนักงาน ปปส.ภาค 5 ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำเสนอผลงานวิชาการ สรุปผลการวิจัยโครงการเพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2560 พร้อมร่วมประชุมคณะกรรมการโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2561

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นประธานในการนำเสนอผลสรุปของงานงานวิจัยโครงการเพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2560 โดยมี ผศ.ดร.พนม กุณาวงศ์ และ ผศ.ดร.ปฐมาวดี จงรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในปีงบประมาณ 2560

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 10 ท่าน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสำนักงาน ป.ป.ส. อาทินายพรพัฒน์ สุวรรณภูมิ ผอ.ปปส.ภาค๕ ,นางทิพาพร ทัศนภักดิ์ ผอ.สพส. เป็นต้น และวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินการศึกษาวิจัยใน 3 โครงการย่อยในการแก้ไขปัญหาฝิ่นและยาเสพติดในพื้นที่อำเออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ประกอบด้วย โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น ทั้งคน พื้นที่และตัวยา โดย “โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น” โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหาฝิ่นและยาเสพติด โดย “โครงการวิจัยเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ปลูกฝิ่น ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่” และ โครงการทบทวนการทำงานของหน่วยงานภาคีและสรุปองค์ความรู้ โดย “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการบูรณาการการทำงานตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝิ่นฯ”

ทั้งนี้จากที่ประชุมได้มีข้อสรุปและเสนอแนะต่อการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย รปส.2 ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนในการทำงานระยะต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการคืนข้อมูลให้กับพื้นที่ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนให้มากที่สุด ในการเข้าไปใช้ทางเลือกในแก้ไขปัญหาฝิ่นในพื้นที่ นอกจากนี้ ผอ.ปปส.ภาค 5 ให้ความสำคัญกับงานวิจัยให้สามารถนำไปการดำเนินงานใน 4 ระดับได้จริง คือการควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่น การเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกฝิ่น การนำผู้เสพผู้ติดเข้าสู่การบำบัดและการดำเนินการต่อผู้เกี่ยวข้องกับฝิ่น อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นว่าโครงการวิจัยดังกล่าวเป็นโครงการที่มีประโยชน์ นอกจากเป็นงานวิชาการแล้วยังสามารถพัฒนาให้เกิดผลทางการปฏิบัติ รวมทั้งในการดึงภาคีภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมดำเนินการในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นต้นแบบให้อีก 5 ตำบลในพื้นที่

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันเดียวกันนี้ เวลา 14.00 น. นายพรพัฒน์ สุวรรณภูมิ ผอ.ปปส.ภาค 5 พร้อมด้วย นางทิพาพร ทัศนภักดิ์ ผอ.สพส.ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2561 โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 30 ท่านจากหน่วยงานภาคีภายใต้แผนแม่บท ฯ

ทั้งนี้จากการประชุมมีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย ผู้แทน สพส.ป.ป.ส. นำเสนอสถานการณ์พื้นที่ปลูกฝิ่นในพื้นที่ทั้งประเทศในห้วงปี 2561 ลดลงเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญเหลือเพียง 433 ไร่ จากเดิม 1,885 ไร่ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สิ้นสุดฤดูกาลปลูกฝิ่นยังคงเหลือพื้นที่ปลูกฝิ่นอีก 3 เดือน ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ และ ปปส.ภาค 5 นำเสนอผลการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมาในมาตการต่าง ประกอบด้วย ด้านการป้องกัน ดำเนินงานเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง 6 เครือข่ายและพัฒนายุวเกษตรกรด้านการป้องกันกลุ่มเสี่ยง , ด้านการบำบัดรักษา ในรูปแบบ Harm Reduction 646 ราย และบำบัดโดยจิตวิญญาณ 131 ราย นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือด้านอาชีพจากโครงการขยายผลโครงการหลวงฯ 528 ราย และมาตรการด้านการปราบปราม จับกุมดำเนินการผู้เกี่ยวข้องกับฝิ่นในพื้นที่ได้ 131 ราย ยึดฝิ่นดิบได้ 46 กิโลกรัม และสามารถจัดทำเครือข่ายนักค้ารายสำคัญได้ 6 เครือข่าย 45 รายในพื้นที่อำเภออมก๋อย
ขณะเดียวกันแนวทางในการดำเนินต่อไป โดยเน้นการบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดฝิ่นในปีงบประมาณ 2561 ควรมุ่งเน้นในพื้นที่ หมู่บ้านซึ่งยังไม่เคยมีการบำบัด รักษา และขอให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงเรื่องการส่งเข้ารับบำบัดผู้เสพ ผู้ติดฝิ่น /ส่วนการช่วงเหลือผู้ผ่านการบำบัดขอให้เน้นการทำงาน และ รักษาสถานะภาพการเป็นศูนย์ปฏิบัติการโครงการขยายผลโครงการหลวงที่เป็นพื้นที่ปลอดฝิ่นได้ ร้อยละ 100 และพัฒนาให้เป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ เน้นย้ำมาตรการป้องกัน ให้ดำเนินงานภายใต้แนวทางประชารัฐร่วมใจหมู่บ้านชุมชน ปลอดภัยยาเสพติดและการบูรณาการการทำงาน

ขณะที่ ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน จากประธานในที่ประชุม ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามและรายงานผลการดำเนินงานโครงการขยายผลโครงการหลวงฯให้สำนักงาน ป.ป.ส.และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในฐานะเลขานุการ ทราบต่อเนื่องเพื่อนำเสนอ คณะรัฐมนตรีทุก 6 เดือนต่อไป ส่วนการเตรียมการในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ในงบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัดโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2562 และ 2563 โดยโครงการหรือกิจกรรมขอให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น