ดอกปทุมมาที่เชียงใหม่… อ.พิศิษฐ์ แห่งมช.ผู้ขยายพันธุ์

เกษตรวันนี้ มารู้จัดที่มาของดอกปทุมมา (Curcuma alismatifolia) ในจังหวัดเชียงใหม่ The Story of Curcuma alismatifolia in Chiang Mai ที่สองท่านนี้ อดิศร กระแสชัย และ จามจุรี โสตถิกุล ที่ได้มาให้ความสำคัญและที่มาของปทุมมาในเชียงใหม่ที่ อ.พิศิษฐ์ วรอุไร เป็นหนึ่งในผู้เพาะขยายพันธุ์ ปทุมมา (Curcuma alismatifolia) เป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และอีกหลายๆจังหวัดของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งตลาดภายในและเทศและตลาดต่างประเทศ ปทุมมาเป็นไม้ดอกประเภทหัวที่สามารถนำไปใช้ได้หลายลักษณะ ใช้เป็นไม้ตัดดอก เป็นไม้กระถาง และใช้เพื่อการตกแต่งสถานที่

สำหรับความเป็นมาของพืชนี้ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนกลายเป็นพืชปลูกและพืชการค้าในปัจจุบันนี้นั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอจะติดตามย้อนหลังได้ว่า ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ อาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร (ในขณะนั้นยังไม่ได้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอก) ได้เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรายงานตัวเป็นครูของโรงเรียนหอพระ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
และได้มีโอกาสรู้จักกับ อาจารย์บุพพันธ์ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งต่อมาได้พา อาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร ไปกราบพระธรรมราชานุวัตร (ฟู อตฺตสิโว) เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหารและเป็นเจ้าคณะตรวจการคณะสงฆ์ภาค ๕ และ พระวิมลญาณมุนี (หนู ถาวโร) รองเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์และเจ้าคณะอำเภอสันกำแพง ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร และพระวินัยโกศล (จันทร์ กุสโล) ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และที่ชั้นล่างของกุฏิของพระวินัยโกศล อาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร ได้เห็นดอกไม้ที่ปลูกอยู่ในกระถางที่เชิงบันไดด้านขวามือซึ่งพระวินัยโกศลได้ให้ชื่อดอกไม้ชนิดนี้ไว้ว่า ‘ปทุมมา’ ด้วยเห็นว่ามีรูปร่างดอกคล้ายดอกบัว

หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑ เดือน อาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร ได้ไปกราบพระวินัยโกศลอีกครั้งหนึ่งก็ยังคงเห็นดอกปทุมมากระถางดังกล่าว ยังคงบานอยู่ ซึ่งพระวินัยโกศลได้เรียกว่า ‘ดอกปทุมมาท่าน้อง’ ซึ่งมีความหมายว่า การที่ดอกปทุมมายังคงบานอยู่ได้นานก็เพื่อจะรอคอยให้ผู้คนไปดูชม และท่านได้เล่าให้ทราบถึงที่มาของดอกปทุมมาดังกล่าวว่า คุณหญิงของพระยาวินิจวนันดร เป็นผู้นำมาถวาย เข้าใจว่าคุณหญิงฯ ได้รับจากพระยาวินิจวนันดร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘ เมื่อครั้งที่พระยาวินิจวนันดรไปราชการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหลังจากการปลูกแล้ว ได้นำต้น ๑ กระถางมาถวายพระวินัยโกศลใน พ.ศ. ๒๕๐๐
ต่อมา อาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร ได้รับต้นปทุมมาจากอาจารย์บุพพันธ์ นิมมานเหมินทร์ ๑ กระถาง ซึ่งเข้าใจว่าอาจารย์บุพพันธ์ ได้รับต้นปทุมมาจากพระวินัยโกศล อาจารย์บุพพันธ์จึงนำมาปลูกไว้ที่สวนของอาจารย์บุพพันธ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานกงสุลอังกฤษเดิมซึ่งอยู่ที่ถนนเจริญประเทศ ซึ่งอาจารย์พิศิษฐ์ วรอุไร ได้นำต้นที่ได้รับมาปลูกเลี้ยงไว้ที่บ้านพักที่เช่าอยู่ ณ ถนนอินทวโรรส ต่อมาปี ๒๕๐๗ ก็ได้รับทุนโคลอมโบในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกกลับมาประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื่องจากได้ถูกแต่งตั้งให้มาเป็นอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้เห็นว่าในขณะนั้นได้มีการปลูกดอกปทุมมาอยู่ประปรายอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่แล้ว และมีวางขายที่ตลาดขายดอกไม้ใกล้ๆกับสุสานประตูหายยา ต่อมาเมื่อได้มาสอนในคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในเวลาต่อมาก็ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งหมวดวิชาไม้ดอกไม้ประดับขึ้นในภาควิชาพืชสวน และได้เปิดสอนวิชาไม้ดอกไม้ประเภทหัว (Bulbs Tubers and Corms) ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศและยังคงสอนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนงานทางด้านปทุมมานั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๑ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้นำไปปลูกศึกษาการเจริญเติบโตที่ห้วยทุ่งจ๊อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ นำไปศึกษาต่อที่ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๐๐ เมตร จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการวิจัยในส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปทุมมาที่อาคารปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชของภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่ง ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร เป็นผู้กำหนดแบบแผนผังอาคารปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน และได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากรัฐบาลสหราชอาณาจักรมูลค่า ๕ ล้านบาท
สำหรับดอกปทุมมานั้น ในเวลาต่อมาได้ถูกนำไปวิจัยโดยนักวิจัยจากหลายหน่วยงานในหลายๆหัวข้อ หลายวาระ จนได้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อวงการค้าจนถึงปัจจุบัน
ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้ปทุมมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเล็กน้อยว่า เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๗๖ ณ บ้านริมคลองหลวงแพ่ง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เรียนหนังสือชั้นมูลที่โรงเรียนแพ่งพิทยาภูมิ จ.ฉะเชิงเทรา ชั้นประถมที่โรงเรียนวัดคลองใหม่ ต.บางโพงพาง อ.ยานนาวา จ.พระนคร ชั้นประถม ๔ และชั้น ม. ๑, ๒ และ ๓ ที่โรงเรียนสุวรรณศิลป์ จ.พระนคร ชั้น ม. ๔ ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชั้น ม. ๕, ๖ ที่โรงเรียนวัฒนศิลป์ จ.พระนคร หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงแล้ว และเรียนต่อชั้น ม. ๗, ๘ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท จ.พระนคร พ.ศ. ๒๔๙๔ สอบเข้าเพื่อเรียนต่อที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่สอบไม่ได้
แต่สอบได้ที่คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้ ๓ เดือน ก็ขอลาออกเพราะทราบว่าวิชาที่เรียนไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแต่อย่างใด คือไม่มีการสอนเกี่ยวกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวิชาที่ตนเองสนใจ ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้สอบเพื่อเข้าเรียนต่อในคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้งหนึ่งและสอบได้ ได้เลือกเรียนทางด้านสัตวศาสตร์เพราะประทับใจในการสอนของศาสตราจารย์ มรว. ชวนิศนดากร วรวรรณ สำเร็จการศึกษาได้ปริญญากสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
จากนั้นได้เริ่มทำงานการพัฒนาพันธุ์สุกร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ประมาณ ๓ เดือน เห็นว่าน่าจะใช้ชีวิตไปพัฒนาเยาวชนในด้านการเกษตรจะดีกว่า จึงได้สมัครไปเป็นครูประชาบาลที่กระทรวงศึกษาธิการด้วยความตั้งใจที่ต้องการจะไปเป็นครูในชนบทในที่ห่างไกล ทุรกันดาร แต่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นครูประจำกรม
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นครูโรงเรียนหอพระ ต่อมาได้เป็นครูใหญ่และได้เป็นศึกษานิเทศก์ภาคการศึกษา ๘ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ขอย้ายไปเป็นครูประชาบาลที่โรงเรียนแพ่งพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่บ้านเกิดคือ คลองหลวงแพ่ง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อที่จะได้อยู่เป็นเพื่อนมารดาเนื่องจากบิดาเสียชีวิต
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีส่วนร่วมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในระยะเริ่มต้นกับคณาจารย์หลายๆท่าน และได้ริเริ่มประเพณีการเดินขึ้นดอยเพื่อไปสักการะอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยและพระบรมธาตุดอยสุเทพของนักศึกษาใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจที่ได้เห็นคนเชียงใหม่เดินขึ้นดอยสุเทพเพื่อไปสักการะพระบรมธาตุดอย สุเทพในวันวิสาขบูชา โดยในการเดินครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๐๗ นั้น ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้เดินขึ้นดอยสุเทพพร้อมกับนักศึกษาจำนวนประมาณ ๘๐ คน ซึ่งได้รับคำชมเชยจากหนังสือพิมพ์คนเมือง ที่มีคุณวิจิตร ไชยวัณณ์ เป็นบรรณาธิการ
ในเดือนกันยายน ๒๕๐๗ เดินทางไปศึกษาต่อสาขาพืชสวน ที่มหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ โดยทุนโคลอมโบในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ
ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๗ และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายสวัสดิการและฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๔ เป็นผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ให้จัดตั้งศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๓๔ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร เป็นอาจารย์หมวดไม้ดอกไม้ประดับ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๖ เมื่ออายุครบ ๖๐ ปี พอดี
ปัจจุบันดร.พิศิษฐ์ วรอุไรในวัย ๘๔ ปี ยังคงแข็งแรงและยังทำงานตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่บ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งประชาชนเป็นชาวไทบรู และเป็นที่ปรึกษาในงานวิชาการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกด้วย

ท.ลุงเกษตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น