ชี้ให้เห็นชัดๆ! บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 2 ผู้ถือบัตรได้อะไรบ้าง?

รัฐบาลเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะแรก มาแจ้งความประสงค์เพื่อลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 2 รับสิทธิประโยชน์จากรัฐมากกว่าเดิม ต่อยอดการช่วยเหลือคนจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ภาพจาก กรมบัญชีกลาง

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2561) ถือเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลเปิดให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะแรก (ปี 2560) มาลงทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์ รับสิทธิประโยชน์จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 โดยได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งการแสดงความประสงค์ในครั้งนี้ หมายถึงการอยากมีอาชีพและอยากมีรายได้สำหรับพึ่งพาตนเองของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

หลังจากที่รัฐบาลดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะแรก ในปี 2560 ไปแล้วนั้น รัฐบาลมองว่า ในปีที่ผ่านมาโครงการดำเนินไปได้ด้วยดี จึงจัดให้มีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อต่อยอดและผลักดันให้เกิดการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โดยแนวคิดในในการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 2 นี้ รัฐบาลไม่ได้ให้แค่เงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (ธงฟ้า) ไว้ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่รัฐบาลจะมอบเครื่องมือทำมาหากินให้กับผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ด้วย

ภาพจาก กระทรวงการคลัง

ในระยะที่ 2 (ปี 2561) นี้ รัฐบาลได้มีมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเข้ามาดูแล 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การมีงานทำ โดยการช่วยจัดหางานที่เหมาะสมและส่งเสริมการประกอบอาชีพ 2.การได้รับการฝึกอาชีพและการศึกษา เพื่อให้เข้าถึงทักษะและความรู้ได้อย่างเท่าเทียม 3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ และ 4.การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ ซึ่งรัฐบาลได้เพิ่มเติมสิทธิที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 ทั้งการอนุมัติเพิ่มวงเงินบัตรสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสได้พัฒนาตนเองให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

ทางรัฐบาลจะเติมเงินในบัตรให้กับผู้มีรายได้น้อย สำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (ธงฟ้า)  ผู้ที่มีรายได้ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จากเดิมที่เคยได้รับเงิน 200 บาท จะได้รับเพิ่มอีก 100 บาท เป็น 300 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จากเดิมที่เคยได้รับ 300 บาท จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท เป็น 500 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้มีรายได้น้อยที่อยากมีอาชีพ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว สามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าเมื่อรัฐบาลนัดหมายเกี่ยวกับการทำงานแล้วผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่มาทำงานหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผู้ถือบัตรที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินเพิ่มเติมนี้อีกในเดือนถัดไป และรัฐบาลจะหักเงินที่ได้รับเพิ่มกลับคืน แต่สวัสดิการแบบเดิมที่ผู้ถือบัตรเคยได้รับก็จะยังคงได้รับอยู่

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดให้มีผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer : AO) สำหรับสำรวจผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นรายบุคคล ว่าควรทำอย่างไรจึงจะมีรายได้พออยู่พอกิน โดยผู้ดูแลดังกล่าวจะวินิจฉัยจากพื้นฐานความสามารถของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และด้านภูมิศาสตร์ในพื้นที่ที่ผู้ถือบัตรอาศัยอยู่ เพื่อหาอาชีพที่เหมาะสมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละราย ซึ่งด้านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ก็ได้เตรียมจัดหาผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer : AO) เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างอาชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้แล้ว โดยผู้ดูแลดังกล่าว จะเป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละรายไปจนสิ้นโครงการ

ส่วนในด้านนายจ้างภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในโครงการนี้ร่วมกับรัฐบาล ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสิทธิทางภาษี และที่สำคัญยังมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอีกแรงด้วย

 

เรียบเรียงโดย : นางสาวสุภัค พูลจันทร์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น