คณะแพทย์ มช. จัดกิจกรรม”วันไตโลก”

หน่วยโรคไต คณะแพทย์ มช. จัดกิจกรรมวันไตโลก ชี้โรคไตเรื้อรังพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นสาเหตุการตายอันดับ 8 ในเพศหญิง คร่าชีวิตผู้หญิงกว่า 6 แสนรายต่อปี กระตุ้นเตือนให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคไตเรื้อรัง การป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตในเพศหญิง

ทุกวันพฤหัสบดีที่สองของเดือน มี.ค.ของทุกปี International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดเป็นวันไตโลก (World Kidney Day) ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สถานพยาบาลทั่วประเทศ และสถาบันที่เกี่ยวกับโรคไตทั่วโลก จึงได้จัดกิจกรรมวันไตโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นและเตือนให้ประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต

อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร์ หน.หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ปัจจุบันสถาน การณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นปัญหาสาธารณสุข และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเพศหญิงพบอุบัติการณ์จากทั่วโลก ผู้หญิงป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังเกือบ 200 ล้านคน และโรคไตเรื้อรังยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 8 ในเพศหญิงประมาณ 6 แสนรายต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่าผู้ชายถึง ร้อยละ 14 จากสาเหตุการเข้าถึงการรักษา และความเสี่ยงจากโรค SLE (โรคพุ่มพวง),โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้เกิดไตวายเฉียบ พลัน”

หน.หน่วยโรคไต เปิดเผยต่อว่า “ในปีนี้วันไตโลก ตรงกับวันที่ 8 มี.ค.ซึ่งตรงกับ International Women’s Day หรือวันสตรีสากล หน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ และงานการพยาบาลผู้ป่วยอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. จึงได้มีการรณรงค์พิเศษเกี่ยวกับโรคไตเรื้อรังในสตรีขึ้น ในหัวข้อเรื่อง“Kidneys & Women’s Health” “สุขภาพดี สตรีไทย สุขภาพไต สตรีดี” วันพฤหัสบดีที่ 8 มี.ค.61 เวลา 8.00-13.00 น. ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มช.

เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคไตเรื้อรัง และมีแนวทางในการป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตในเพศหญิงโดยจะมีการบรรยายและการตอบปัญหา เรื่อง “ปัญหาสุขภาพและโรคไตในสตรี” โดยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ,การบริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต ,การซักประวัติคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคไต ,ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณ BMI ,ตรวจสภาพหลอดเลือดแดง ,ตรวจปริมาณไขมันในร่างกาย ,ตรวจวัดความดันโลหิต ,ตรวจปัสสาวะ ,ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งปรึกษาและให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ร่วมแสดงความคิดเห็น