ทำไมต้องเสื้อฮาวาย!?

หนุ่มๆสาวๆช่วงนี้ไม่ว่าจะเดินไปไหน ไม่ว่าจะเดินห้าง เดินตลาดนัด งานอีเวนท์ต่างๆ มีเทรนด์แฟชั่นนึ่งที่คงจะเห็นกันบ่อยๆ มันคือเสื้อฮาวาย ที่สุดแสนจะ “อโล่ฮา ฮาริบบ้า!!!” ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เจอแต่คนใส่เสื้อฮาวาย

ยิ่งศิลปินที่กำลังมาแรงอย่าง เดอะทอยส์ ใส่เล่นคอนเสิร์ต ทีไรเสื้อสีนั้นก็ยิ่งยอดฮิตในหมู่แฟนเพลง เป็นทวีคูณหลายคนคงจะสังเกตเห็นเหมือนกันว่า ทุกคนเริ่มหันมาใส่เสื้อฮาวาย อันที่จริงแล้วเสื้อฮาวายวนเวียนอยู่คู่กับ scene แฟชั่นบ้านเรามานานานหลายสิบปี เพียงแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เสื้อฮาวายได้กลายเป็นอีกหนึ่ง basic piece ที่ทุกคนมีติดตู้เสื้อผ้า และสามารถนำมาสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันปกติ

เสื้อฮาวายมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ในช่วงปี 1930 แต่เป็นปี 1935 ที่เสื้อฮาวายเริ่มมีการผลิตและจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มต้นจาก Mr. Kiochiro Miyamot เจ้าของห้องเสื้อ Musa-Shiya the Shirtmaker เริ่มตัดเย็บเสื้อฮาวายในแบบ tailor made เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวบนเกาะฮาวาย โดยได้พิมพ์ลายและตัดเย็บด้วยผ้ากิโมโนสีสันสดใสตามแบบฉบับของญี่ปุ่น แต่มีคัตติ้งที่สวมใส่สบายแบบชาวตะวันตก กระนั้นความต้องการของตลาดก็มีไม่เพียงพอ

ต่อมาร้าน Watumull’s East India Store จึงได้ทำการว่างจ้างดีไซเนอร์นาม Elsie Das ให้ออกแบบลวดลายบนผ้าไหมเพื่อผลิตเสื้อฮาวายกว่า 15 แบบ และทำการจัดจำหน่ายในวงกว้าง ซึ่งในภายหลังนั้นก็ได้มีร้านค้าและผู้จัดจำหน่ายรายอื่นๆ ทยอยผลิตเสื้อฮาวายออกตามมา

จนกระทั่งในปี 1936 นักธุรกิจนาม Ellery Chun ได้ร่วมกับบริษัท King-Smith Clothiers จดทะเบียนการค้าเสื้อฮาวาย ภายใต้ชื่อ Aloha Shirt อย่างเป็นทางการ และถึงแม้ว่าจะมีผู้จำหน่ายรายย่อยอื่นๆ ในตลาด แต่เสื้อฮาวายภายใต้แบรนด์ยี่ห้อ Aloha Shirt ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่และขายดีที่สุดในยุคนั้น

ในขณะที่เวลาผ่านไป เสื้อฮาวายก็ค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและวัตถุดิบตามยุคตามสมัย จากผ้ากิโมโนสู่ผ้าไหมไปจนถึงผ้าเรยอน จากกระดุมเงินสู่กระดุมเปลือกมะพร้าว มาจนถึงกระดุมหอยมุกในปัจจุบัน

เสื้อฮาวายได้รับความนิยมที่เกาะฮาวายมาก จนถึงขนาดในปี 1947 มีการประกาศให้ทุกวันศุกร์เป็นวันรณรงค์ใส่เสื้อฮาวาย หรือที่เรียกกันว่า Aloha Friday

เสื้อฮาวายได้ขยายความนิยมเข้าสู่อเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 1953 เมื่อ Montgomery Clift ปรากฏตัวพร้อมเสื้อฮาวายในภาพยนตร์เรื่อง From Here To Eternity แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับในปี 1961 ที่ Elvis Presley ปรากฏตัวพร้อมกับเสื้อฮาวายและอูคูเลเล่คู่ใจในภาพยตร์เรื่อง Blue Hawaii หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น Frank Sinatra, Bing Crosby หรือแม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีอย่าง Dwight D. Eisenhower และ Harry S. Truman ก็ต่างพร้อมใจกันใส่เสื้อฮาวายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ในช่วงปี 1960

นอกเหนือจาก Elvis Presley ใน Blue Hawaii แล้ว เสื้อฮาวายก็ยังไปปรากฏอยู่ตามสื่ออื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์อย่าง Hawaii Five-O, วงThe Beach Boys ลามไปถึงช่วงช่วงปี 70 จากซีรีส์ Magnum หรือแม้กระ ทั่ง กลุ่มชาวฮิปปี้บางส่วนที่เลือกที่จะสวมใส่เสื้อฮาวาย

ที่มา : ไทยรัฐ

ร่วมแสดงความคิดเห็น