ตามรอยศิลปะขอม สู่ นครวัด นครธม

ภาพเงาสะท้อนน้ำของมหาปราสาทหินที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบพันปีปรากฏขมึงอยู่เบื้องหน้า สะกดความสนใจคนจากทั่วทุกมุมโลกให้เพ่งพินิจถึงความอลังการขององค์ปราสาทนครวัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โคตรปราสาท” ของกัมพูชา จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษอาร์โนลด์ ทอยบี กล่าวว่า …see Angkor and die… (…อย่าเพิ่งด่วนตาย ถ้ายังไม่ได้ไปดูนครวัด…)

มหาปราสาทยังโอฬารตระการฟ้า เหมือนเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อนที่พระราชอาณาจักรขอมแห่งสุริยวรมันที่ 2 ยังเกริกไกร ขณะที่ใครต่อใครใฝ่ฝันจะได้มายลนครวัดสักครั้งหนึ่งในชีวิต  ปราสาทนครวัดสร้างขึ้นโดยบรรพชนชาวเขมรตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณาจักรขอม ในสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1432) ต่อเนื่องถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545) จนถึงยุคพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656) อาณาจักรขอมรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้าการก่อกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยหลังจากนั้นก็อ่อนแอลงจนในที่สุดก็ถึงกาลล่มสลาย
ดินแดนกัมพูชาหรืออาณาจักรขอมโบราณนั้น ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อตามคติในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลก่อนพุทธศาสนาเนิ่นนานนัก ศาสนานี้ยกย่องกษัตริย์เสมอดั่งเทพเจ้า เรียกว่า “ลัทธิเทวราชา” หมายความว่ากษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้าที่อยู่บนโลกมนุษย์ ดังนั้นการสร้างเทวสถานหรือเทวาลัย จึงเป็นพระราชภารกิจของกษัตริย์ขอมทุกพระองค์ ที่จะต้องสร้างปราสาทหินเป็นเทวาสถานถวายแด่บรรพบุรุษหรือถวายแด่พระองค์เอง
ปราสาทจึงเปรียบเสมือนศาสนสถานอันถือเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ มีการขุดคูน้ำ ชาวเขมรเรียกว่า “บาราย” อยู่ล้อมรอบ มีลวดลายสลักหินเป็นรูปพญานาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ เปรียบเทียบได้กับเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร อันเป็นสัญลักษณ์ของระบบสุริยจักรวาลตามคติฮินดู ปราสาทหินที่กษัตริย์ขอมสร้างขึ้นก็คือศูนย์กลางของโลกและจักรวาลอันยิ่งใหญ่นั่นเอง
นี่จึงเป็นพลังที่ทรงอานุภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนแรงงานเป็นหมื่นเป็นแสน ไปเคลื่อนย้ายก้อนหินขนาดมหึมานับเป็นหมื่นๆ ตัน มารังสรรค์จนกลายเป็นเสมือนทิพยวิมานของเทพยดาบนโลกมนุษย์ขึ้นมาเช่นนี้เอง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สถาปนาปราสาทนครวัดขึ้นเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลเมื่อราว 1,000 ปีมาแล้ว โดยสร้างขึ้นภายในกำแพงล้อมรอบมีความยาวถึง 1,000 เมตร กว้าง 850 เมตร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะต้องใช้หินในการก่อสร้างรวมกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร ใช้ช้างกว่า 4 หมื่นเชือกและใช้แรงงานคนอีกนับแสนในการขนหินจากภูเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไปนอกเมืองราว 50 กิโลเมตร
ปราสาทนครวัดมีเสาหินตั้งเรียงรายถึง 1,800 ต้น รอบระเบียงปราสาทมีภาพแกะสลักหินเป็นเรื่องราวตามคติฮินดู เช่น รามายณะ มหาภารตยุทธ์ ปรากฏอยู่ทั่วไม่เว้นกระทั่งกรอบประตูและช่องหน้าต่าง สันนิษฐานว่าต้องใช้ช่างฝีมือจำหลักภาพหินกว่า 5,000 คน แกะสลักอยู่นาน 40 ปี ปราสาทนครวัดจึงงดงามอลังการได้ ในจำนวนภาพแกะสลักทั้งหมด มีอยู่ภาพหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ตระการตา คือภาพที่ระเบียงทิศตะวันออกฝั่งใต้ เล่าเรื่องมหกรรมการกวนเกษียรสมุทร เพื่อให้ได้น้ำอมฤตสำหรับดื่มกินแล้วจะมีชีวิตเป็นอมตะนิรันดร์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าภาพกูรมาวตาร
กูรมาวตาร เป็นเรื่องเล่าของชาวฮินดูเพื่อสรรเสริญพระนารายณ์ ในฐานะเทพเจ้าผู้ปกป้องคุ้มครองโลก เรื่องมีอยู่ว่าฝ่ายเทวดาที่นำโดยพระอินทร์ปรารถนาจะมีชีวิตเป็นอมตะ เพื่อจะได้รบชนะฝ่ายอสูร พระนารายณ์จึงทรงแนะให้ทำพิกวนเกษียรสมุทร ซึ่งจะได้น้ำอมฤตหรือน้ำทิพย์มาดื่มกินให้ชีวิตยืนยาว โดยใช้ภูเขามันทระเป็นไม้กวนและใช้พญานาควาสุกรีเป็นเชือกพัน ซึ่งพระอินทร์ได้หลอกล่อให้พวกอสูรมาช่วยกวนโดยบอกว่าเมื่อกวนเสร็จแล้วจะแบ่งน้ำทิพย์ให้ดื่ม ฝ่ายอสูรจึงยอมร่วมมือ มหกรรมการกวนเกษียรสมุทรดำเนินไปเนิ่นนานถึงพันปี ปรากฏว่าได้ของ 10อย่างผุดขึ้นมาคือ 1.โคสุรภี สารพัดนึก 2.วารุณี เทพีแห่งสุรา 3.ต้นปาริชาติ 4.พระจันทร์ 5.เทพอัปสร 35 ล้านองค์ 6.พิษร้าย ให้พญานาคเสพชูกำลัง 7.ลักษมีเทวี ต่อมาเป็นชายาพระนารายณ์ 8.ม้าอุจไฉรพ 9. ช้างเอราวัณ 10.ธันวันตริ แพทย์สวรรค์ผู้ทูนหม้อน้ำอมฤตขึ้นมา

เมื่อได้น้ำอมฤตแล้วเหล่าอสูรกรูกันมาแย่งดื่ม พระนารายณ์จึงแปลงร่างเป็นสาวงามล่อเหล่าอสูรไปทางอื่น เทวดาจึงได้ดื่มน้ำอมฤตกันถ้วนหน้า ภาพกรูมาวตารที่นครวัด แกะสลักเป็นอสูร 88 ตนกับเทวดา 92 องค์ กำลังดึงลำตัวพญานาค ตรงกลางแกะสลักรูปพระนารายณ์สี่กร ซ้อนอยู่บนภูเขามันทระ ด้านบนมีพระอินทร์ใช้ไม้กดภูเขาไว้ไม่ให้กระดก ส่วนด้านล่างสุดคือเต่าของพระนารายณ์เอากระดองรองรับเขามันทระไว้ แถวบนของภาพมีเหล่าเทพอัปสรที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรออกมาร่ายรำ ภาพกวนเกษียรสมุทรยังได้ถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของเขมรเมื่อครั้งที่สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์และได้สร้างนครธมเป็นราชธานี พระองค์ได้ให้ช่างรังสรรค์งานประติมากรรมเล่าเรื่องกวนเกษียรสมุทรไว้ที่ประตูทางเข้านครทั้ง 4 ทิศ นัยว่าเมื่อกองทัพของพระองค์ยาตราออกไปสู้รบกับอริศัตรูก็ประหนึ่งได้รับการประพรมน้ำอมฤตจากการกวนเกษียรสมุทรเพื่อชีวิตเป็นอมตะและมีชัยชนะตลอดกาล

ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724) ยังคงสืบทอดลัทธิเทวราชาจากบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่นนับเป็นยุครุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมขอมอีกสมัยหนึ่ง พระองค์ได้โปรดให้สร้างเมืองยโสธรปุระ หรือเมืองพระนครหลวง (นครธม) ขึ้นเป็นเทวสถานและศูนย์กลางของโลกและจักรวาล แต่เทพเจ้าของพระองค์ไม่ใช่พระนารายณ์ตามคติพราหมณ์อีกต่อไป พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังนั้นปราสาทของพระองค์จึงเต็มไปด้วยใบหน้าของคน ซึ่งก็คือ พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งแปลว่า ผู้ที่มองลงมาจากเบื้องบนด้วยความเมตตากรุณา

ซึ่งปรากฏอยู่บนยอดปรางค์ปราสาท 54 ปรางค์ แต่ละปรางค์มีพระพักตร์จำหลักอยู่ทั้ง 4 ทิศ รวมได้ถึง 216 หน้า เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ใบหน้าคนเต็มไปหมด พูดง่ายๆก็คือ ไม่ว่าประชาชนขอมจะทำอะไรก็เสมือนมีดวงตาของกษัตริย์ชัยวรมันมองดูอยู่ทุกทิศทาง ปราสาทนครธม คนเขมรเรียกว่า “บายน” เป็นศิลปะแบบบายนในนิกายมหายาน ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นจากการนำหินมาวางซ้อนกันขึ้นเป็นรูป แม้จะเป็นปราสาทที่ไม่ใหญ่โตเท่านครวัด แต่ก็ไม่ความสวยงามไม่แพ้กัน ปราสาทบายนอยู่ห่างจากนครวัดไม่กี่กิโลเมตร มีอายุอยู่ในราว 800 ปี ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลปะขอม กล่าวไว้ว่า

“…พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สลักเสลาขึ้นตามเค้าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แสดงถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระโพธิสัตว์และแสดงถึงพระราชอำนาจอันเกรียงไกร ของพระเจ้าแผ่นดินขอม ที่มีอยู่ตลอดทุกแว่นแคว้นในราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ของพระองค์…” รอบปราสาทบายนมีระเบียงคต 2 ชั้น ขนาดกว้าง 140 เมตร ยาว 160 เมตร ด้านหน้าโคปุระทุกด้านมีภาพแกะสลักรูปสิงห์ ตัวปราสาทแบ่งเป็น 3 ชั้น ด้านบนสุดของปรางค์ประธานมีภาพแกะสลักพระพักตร์มองออกไปรอบทิศ นับเป็นการพิสูจน์พลังของความเชื่อให้เราประจักษ์อีกครั้งว่า มันได้ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์เกินกว่าที่คนสมัยนี้จะทำได้จริงๆ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น