ภาพเก่าเจดีย์วัดหลวงลำพูน

นครลำพูนแต่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองทั้งศิลปวัฒนธรรม การเมืองการปกครองรวมทั้งการค้าขายที่มั่งคั่ง อาณาจักรหริภุญไชยถือกำเนิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้และยังถือได้ว่าเป็นปฐมอาณาจักรที่มีความเก่าแก่ที่สุด ดังนั้นนครลำพูนจึงเป็นเมืองที่เก่าแก่และสำคัญมีชื่อเสียงในด้านศิลปกรรมที่สวยงามโดยเฉพาะภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยยังปรากฏโบราณสถานที่สำคัญต่างๆมากมาย

เป็นที่ทราบกันแล้วว่านครหริภุญไชยหรือเมืองลำพูนสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.1206 ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง หลังจากที่สร้างเมืองเสร็จพระสุเทวฤาษีและพระสุกกทันตฤาษีจึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดาแห่งกรุงละโว้ให้เสด็จขึ้นมาครองเมือง ดังนั้นศิลปกรรมที่ยังปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆในลำพูนจึงเป็นศิลปกรรมสมัยหริภุญไชยแทบทั้งสิ้น

เมื่อเดินทางมาเยือนเมืองลำพูนก็ต้องแวะชมความรุ่งเรืองของศิลปกรรมแบบหริภุญไชย สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาชมมากที่สุดก็คือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดนี้ถือเป็นวัดหลวงสำคัญของชาวลำพูน สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 1651 ในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช ปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองคือ องค์พระบรมธาตุหริภุญชัย ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เดิมนั้นสูงเพียง 3 วามีโกษทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสูง 3 ศอก ต่อมาเมื่อหริภุญไชยได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ พระมหาเถระในลำพูนและขุนฟ้าได้ก่อพระเจดีย์รูปทรงกลมครอบองค์เดิม มีขนาดสูง 10 วา จากนั้นได้มีการบูรณะองค์พระธาตุอีก 2 ครั้งในสมัยพระเจ้าเมืองแก้วและในสมัยของพระเจ้ากาวิละโดยได้ยกฉัตรขึ้นทั้ง 4 มุม

ปัจจุบันพระธาตุหริภุญชัยได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 พระธาตุหริภุญชัย ถือเป็นศาสนาสถานสำคัญคู่เมืองลำพูนและดินแดนล้านนาแล้ว เจดีย์องค์นี้ยังนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ประกอบด้วยฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ซึ่งตั้งรับองค์ระฆังกลม เหนือขึ้นไปเป็นบังลังก์ย่อเหลี่ยม องค์ระฆังประดับปูนปั้นเป็นลวดลายประจำยาม โดยตลอดทั้งองค์ได้รับการปิดทองจังโกษที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์

นอกจากองค์พระธาตุหริภุญชัยแล้ว ในบริเวณวัดยังมีศิลปกรรมที่สำคัญและน่าสนใจอีกแห่งก็คือ สุวรรณเจดีย์หรือกู่คำ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ เป็นเจดีย์ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลักษณะเป็นแบบเดียวกับสุวรรณจังโกษเจดีย์ที่วัดกู่กุด องค์เจดีย์สร้างด้วยแลงผสมอิฐเป็นเจดีย์เหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นเจาะผนังเป็นซุ้มจระนัมชั้นละ 12 ซุ้มรวม 60 ซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผา

ห่างออกไปทางทิศเหนือไม่ไกลนักเป็นที่ตั้งของเจดีย์เชียงยัง อยู่ในบริเวณโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุหริภุญชัย เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช รูปแบบของศิลปกรรมของเจดีย์ฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันขึ้นไป 5 ชั้น เหนือฐานล่างเป็นบัวคว่ำหรือบัวถลา ซึ่งประกอบด้วยลวดบัวและลูกแก้วคั่นเป็นชั้นๆย่อเก็จมุมทั้งสี่ เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุย่อเก็จเช่นเดียวกัน องค์สถูปทรงระฆังแบบลังกาเหนือจากองค์ระฆังไม่มีบังลังก์ แต่ทำเป็นยอดบัวกลุ่มสลับบัวลูกแก้วลดหลั่นกันไปถึงส่วนยอด

ส่วนด้านทิศใต้ของพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของหอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัย ตัวอาคารของหอไตรแบ่งเป็น 2 ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนส่วนชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับหอไตรวัดพระสิงห์และวัดเชียงมั่น ตัวอาคารหอไตรตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า อาคารชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนผนังทั้งสองข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่าง ส่วนอาคารชั้นบนเป็นเครื่องไม้มีลักษณะเครื่องบนหลังคาหย่อนโค้งลาดต่ำมีชั้นซ้อนและชั้นลดหน้า หน้าบันและคิ้วโก่งและผนังประดับลวดลายเครื่องไม้แกะสลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยล้านนาซึ่งอยู่ในยุคหลัง
นอกจากนี้บริเวณรอบวัดพระธาตุหริภุญชัยยังปรากฏเจดีย์เก่าแก่ที่สำคัญอีกมากมาย เช่น เจดีย์วัดพระยืน อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดพระธาตุหริภุญชัย เจดีย์วัดกู่ละมัก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นต้น น่าอาจเป็นตัวอย่างของเจดีย์เก่าแก่ในลำพูนที่ล้ำค่าด้วยศิลปกรรม แต่ยังน่าเป็นห่วงอีกว่าปัจจุบันเจดีย์เก่าแก่เหล่านี้รวมถึงเจดีย์ร้างที่ยังไม่มีการค้นพบได้ถูกชาวบ้านเข้าไปขุดหาสมบัติจนทำให้รูปทรงและเคล้าเดิมของเจดีย์เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่ากรมศิลปากรได้พยายามเข้ามาดูแลโบราณสถานเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีเจดีย์เก่าบางองค์อาจหลุดรอดสายตา ดังนั้นเมื่อพบเห็นโบราณสถานอาจจะร้างหรือไม่ก็ตามควรที่จะแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเพื่อจะได้เข้ามาดูแลและบูรณะเป็นโบราณสถานที่มีค่าแก่คนรุ่นหลังต่อไป.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น