ภาคพลเมืองเชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึงธนารักษ์เชียงใหม่ จี้ยุติและยกเลิกโครงการสร้างบ้านพักเชิงดอยสุเทพ

“ภาคพลเมืองเชียงใหม่” ยื่นหนังสือถึงธนารักษ์เชียงใหม่ จี้ยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พื้นที่ป่าดอยสุเทพ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 26 มีนาคม 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนภาคพลเมืองเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ภาคีคนฮักเชียงใหม่,เครือข่ายเขียวสวยหอม,ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ ,โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และกลุ่มรักษ์แม่ปิง เป็นต้น เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 งบประมาณโครงการหลายร้อยล้านบาท ที่ตั้งอยู่บนแนวลาดชันของภูเขาและลักษณะพื้นที่ดูคล้ายยื่นเข้าไปในพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
นำโดยศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเชียงใหม่ และนายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานกรรมการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และอธิบดีกรมธนารักษ์ โดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรียงยุทธ เรืองภัทรกุล ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับหนังสือและเจรจา
ทั้งนี้ในส่วนของหนังสือที่ยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นการขอข้อมูลข่าวสารราชการและให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว เช่น การขออนุมัติใช้พื้นที่ราชพัสดุ,การพิจารณาโครงการ,การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในเชิงวิศวกรรม เป็นต้น ส่วนหนังสือที่ยื่นถึงกรมธนารักษ์ จะเป็นการขอให้ปรับปรุงระเบียบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและการแก้ไขปัญหาทัศนอุจาดของดอยสุเทพ โดยขอไม่ให้มีการอนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมทั้งมีศักยภาพให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนี้ ให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตและปรับปรุงให้เป็นสภาพป่าเชิงเขาเช่นเดิม

ศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเชียงใหม่ ระบุว่า การเข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อขอข้อมูลข่าวสารรายละเอียดโครงการและการใช้พื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนขอให้กรมธนารักษ์ทบทวนการอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุให้เหมาะสม และหากเป็นไปได้อยากให้ยุติการใช้พื้นที่ในส่วนที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ยืนยันว่าภาคประชาชนไม่ต่อต้านคัดค้านการก่อสร้างตามโครงการนี้ในส่วนของอาคารที่ทำการและอาคารที่พักที่ตั้งอยู่ส่วนที่เป็นพื้นที่ราบ เพียงแต่เห็นว่าการก่อสร้างในส่วนของบ้านพักที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดชันและยื่นเข้าไปในพื้นที่ป่าดอยสุเทพนั้น ไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีการขออนุญาตใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

ประธานภาคีคนฮักเชียงใหม่ ย้ำว่า พื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพดังกล่าวนี้ถือว่ามีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศน์และหากได้รับความเสียหายแล้วย่อมยากที่จะปรับปรุงแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิม ซึ่งหากเป็นไปได้อยากวิงวอนให้มีการพิจารณายุติและยกเลิกโครงการส่วนนี้ แล้วย้ายไปก่อสร้างในพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมแทน เพราะเชื่อว่ายังมีที่ราชพัสดุอีกมากที่มีความเหมาะสมมากกว่าโดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่แห่งนี้ ซึ่งการยุติและยกเลิกโครงการที่ก่อสร้างไปแล้ว อาจจะดูเหมือนทำให้งบประมาณที่ลงไปสูญเปล่า แต่หากสามารถรักษาพื้นที่ที่มีคุณค่าของเมืองเชียงใหม่และคนเชียงใหม่เอาไว้ได้ถือว่าคุ้มค่าและมีค่ามากกว่างบประมาณที่เสียไป อีกทั้งยังจะเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตามอีกและไม่เป็นตราบาปตลอดไปด้วย

โดยทาง นายยงยุทธ เรืองภัทรกุล ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับหนังสือแล้วจะได้เสอนเรื่องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นก็จะได้มีการรับเรื่องไว้และจะมีการส่งเรื่องให้กับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้มีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและดำเนินการให้ถูกต้อง ก่อนจะมีการแจ้งผลให้กับทางภาคีที่ยื่นหนังสือทราบอีกครั้ง ซึ่งในวันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรับหนังสือ ส่วนเนื้อหาภายในก็จะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบและพิจารณาอีกที ขณะเดียวกันในส่วนของข้อเรียกร้องที่ให้มีการยุติและยกเลิกโครงการนั้น ก็จะต้องให้หน่วยงานที่ได้รับเรื่องทำการพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ที่ราชพัสดุนั้นมีไว้เพื่อใช้ในราชการเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ว่าเมื่อเป็นที่ราชพัสดุ แล้วจะต้องมีส่วนราชการครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่แปลงดังกล่าวทางทหารได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 กว่า และได้มีการออกหนังสือรับรอง โดยแต่เดิมทหารเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ แต่ใตอนหลังทางศาลได้ไปขอเจรจาตกลงกับทหาร ทางทหารจึงได้แบ่งพื้นที่ให้ใช้บางส่วน ดังนั้นการครอบครองจึงเปลี่ยนจากทหารมาเป็นศาล และเมื่อทั้ง 2 หน่วยมีการเจรจาตกลงกันแล้วทางกรมธนารักษ์ก็ได้มีการพิจารณาและอนุญาตตามนั้น

โดยจะเป็นการเปลี่ยนการครอบครองจากหน่วยหนึ่งมาเป็นอีกหน่วยเพียงเท่านั้น ส่วนภายหลังจากที่มีการอนุญาตแล้วก็จะเป็นหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการ ซึ่งปัจจุบันนี้ธนารักษ์มีพื้นที่ราชพัสดุในเชียงใหม่ ประมาณ 4,500 แปลง โดยทุกแปลงหลังจากที่ได้มีการอนุญาตแล้วก็ไม่มีกฎหมายข้อใดที่จะต้องมายื่นขออนุยาตทางธนารักษ์ในการวางผัง ปลูกสร้าง หรือใช้ประโยชน์ แต่อย่างใด ซึ่งจะเป็นเรื่องของส่วนราชการนั้นที่จะต้องพิจารณาความเหมาะสม โดยจะวางผังและใช้ประโยชน์ให้เกิดความเหมะสมอย่างไร เพียงแต่ภายหลังการสร้างเสร็จเรียบร้อยก็ให้สำรวจสินสร้างมาขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเท่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น