รถพุ่มพวงวอนผู้ค้าดัง เปิดพื้นที่คนจนค้าขาย

นางแก้ว เนินกระโทก วัย 52 ปี กล่าวว่า การนำรถกะบะมาบรรทุกสินค้า ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เร่ขายตามชุมชน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่ารถพุ่มพวงนั้น นับวันจะลดน้อยลง เพราะมีการเปิดกาดนัดชุมชนแทบจะทุกที่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ชาวบ้าน จะออกมาซื้อหาสินค้า ถ้ามีรถมินิมาร์ทเคลื่อนที่ของผู้ค้ารายใหญ่ เร่ไปตามชุมชนแบบนั้นก็คงแย่เหมือนกัน

ด้านนายชัย (นามสมมติ) ผู้ค้าเร่รายหนึ่งกล่าวว่า การค้าขายแบบรถเร่ ทำมากว่า 20 ปี พอกินพอใช้เหลือ วันละพันกว่า ไม่ได้ขายดีเหมือนก่อน ที่หักต้นทุนค่าน้ำมันรถ ซื้อของซึ่งก่อนนั้น 2-3 พันบาทสบายๆ น่าจะแบ่งกันกิน ให้คน จนมีที่ค้าขายบ้าง แค่เปิดมินิมาร์ท บรรดาร้านโชห่วยก็ย่ำแย่กันหนัก
“ที่ยึดอาชีพรถเร่ขายของ จนส่งลูกเรียนจบได้ ก็พอมีลูกค้าประจำ รถพุ่มพวงแบบรถยนตร์เร่ก็อีกกลุ่ม รถมอเตอร์ไซค์ รถพ่วงก็เร่ขายตามชุมชนอีกแบบ ถ้ามีรถมินิมาร์ทเร่ตามชุมชน ก็คงเดือดร้อนกัน แต่สินค้าน่าจะคนละแบบ คนละกลุ่มตลาดมั๊ง”

นายเอก วันชาติ วัย 26 ปี ซึ่งลงทุนซื้อรถกะบะมาเปิดขายเครื่องดื่ม ย่าน ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ปกติจะเร่ไปตามแหล่งที่มีนักท่องเที่ยว เช่นย่านนิมมานเหมินทร์ ย่านหลัง มช. หรือแถวๆม.ราชภัฎฯ ซึ่งรูปแบบรถที่ดัดแปลงเพื่อค้าขายที่เรียกว่า ฟู๊ดทรัคนั้นกำลังอยู่ในกระแส จึงไม่แปลกใจที่ธุรกิจรายๆใหญ่ จะลงมาเปิดตลาดในชุมชน ไม่คิดว่ารถมินิมาร์ทเคลื่อนที่ จะมาเร็วขนาดนี้
นายชัยยุทธ์ เขียวเล็ก หน.ฝ่ายตรวจสภาพรถ สนง.ขนส่ง จ.เชียงใหม่ กล่าวภายหลังร่วมชี้แจงสื่อฯ ในแผนขับขี่ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ปีนี้ กับทีมข่าวว่า กรณีการนำรถยนต์ หรือยานพาหนะมาใช้ประกอบการรถเร่ขายสินค้า ตามชุมชนนั้น สามารถทำได้หากไม่มีการดัดแปลงสภาพรถ ตามที่จดแจ้ง หรือฝ่าฝืน พ.ร.บ.ขนส่ง,พ.ร.บ.จราจร
อย่างไรก็ตาม จากกระแสสื่อสังคมนำเสนอ การรุกเข้ามาของธุรกิจรายใหญ่ ในการนำรถมาเร่จำหน่ายสินค้าแบบมินิมาร์ทเคลื่อนที่นั้น ไม่มีความคิดเห็น เพราะไม่ทราบรายละเอียดการขออนุญาต แต่ถ้าเป็นรถบรรทุก รถขนส่งต่างๆมีเงื่อนไข หลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายชัด เจน คงไม่มีผู้ประกอบการรายใด อยากฝ่าฝืนกฎหมาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น