รุกที่”กำแพงดินเชียงใหม่” บทพิสูจน์คนอยู่เหนือกฎ

ตามตำนานเมืองเชียงใหม่ บอกเล่าประวัติศาสตร์ กำแพงดินเชียงใหม่หลายบท ขึ้นอยู่กับความสนใจว่าจะติดสาระด้านใด หากเป็นรอยอดีตอันทรงคุณค่า คือกำแพงเมืองชั้นนอก เพื่อปกป้องราชธานี ถ้าเรื่องราวคนหนุ่มคือ ถิ่นบ้านสาวงามเพื่อคลายกำหนัด เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันกำแพงดิน กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนผลประโยชน์ เคยมีกระแสตื่นตัว แก้ไขปัญหาการบุกรุก ทำลายแนวกำแพงดินตั้งแต่ปี พศ.2511 ซึ่งก่อนหน้านั้น มีการบุกรุกกันไม่มาก มีรูปแบบปลูกสร้างเพิงพักอาศัย ในขณะที่ช่วงไม่กี่ปี มีปัญหาฟ้องร้อง ให้เพิกถอน สิ่งปลูกสร้างรูปแบบต่างๆทั้งอาคารพาณิชย์ ร้านค้า และที่อยู่อาศัยกว่า 1 พันราย
เป็นข่าวใหญ่โตปี 2554 เมื่อกลุ่มทุน”เพ็ญสินี” ปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่โต บริเวณด้านหน้าโรงแรมดังแห่งหนึ่ง และอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 4 คูหาของ “วลัญญ์ชัย”
“ก่อสร้างในที่โบราณสถาน โดยไม่ทราบว่า มีการอนุญาตได้อย่างไร ล่วงมา 7-8 ปี ทุกอย่างปกติเช่นเดิม เปิดบริการ ใช้งานเรียบร้อย”
สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ยืนยันว่ากำแพงดิน ไม่ต้องปักป้ายหราว่าเป็นเขตโบราณสถาน ทุกคนก็รู้ว่านี่คือสิ่งที่คงคู่ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ มากว่า 722 ปี

แต่กำแพงดิน เป็นพื้นที่ซึ่ง”ธนารักษ์เชียงใหม่”ดูแล หากมีการเช่า ใช้ประโยชน์ ส่วนการขออนุญาติก่อสร้างเป็นอำนาจของท้องถิ่นซึ่งก็คือ ทน.เชียงใหม่ ถ้าบุกรุกทำลายกำแพงดิน ทางกรมศิลปากรมีอำนาจจัดการตามกฎหมายและกรมที่ดินมีสิทธิ์เข้ามาร่วมวงกำแพงดิน เพราะบางพื้นที่ดันมีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง มีโฉนด
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาบุกรุก ทำลายกำแพงดิน เชียงใหม่ ก็คงจะสาละวนโยนกลองกันไปมา ยิ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เพิ่มภาระให้อีกหน่วยงาน

ส่วนประเด็นอดีตนักการเมือง, นักธุรกิจ, ผู้นำชุมชน, คนต่างชาติ, ต่างด้าว ใครบ้างมีชื่อครอบครองกรรมสิทธิ์ อยู่อาศัยในแนวเขตกำแพงดิน นครเชียงใหม่อย่าไปรู้เลย
มาลุ้นติดตามความเปลี่ยนแปลงของกำแพงดิน เชียงใหม่ กันดีกว่าจะมีส่วนไหนค่อยๆหดหายไป แล้วอะไรจะโผล่ปลูกสร้างขึ้นมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น