กำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่ในอดีต

จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยก็ว่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกำแพงและประตูเมืองหลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการบูรณะซ่อมแซมมาบ้างแล้วก็ตาม แนวกำแพงและประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันยังคงมีเค้าโครงของแนวกำแพงสมัยโบราณอยู่ โดยเฉพาะก้อนอิฐซึ่งมีลักษณะใหญ่กว่าปกติ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยของพระเจ้ากาวิละที่เข้ามาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากที่ร้างมานาน กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่มีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่พิเศษ ในอดีตเมื่อพระมหากษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองจะต้องเข้าเมืองที่ประตูทางทิศเหนือซึ่งถือเป็นเดชเมือง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพม่า” กล่าวถึงกำแพงเมืองเชียงใหม่ไว้ตอนหนึ่งว่า “การที่หลอด เคอสัน ปฏิสังขรณ์เมืองมัณฑะเลย์ควรได้รับการสรรเสริญ ถ้าหลอดเคอสันมิได้ล้มล้างมติเดิมของรัฐบาลอินเดีย ป่านนี้ปราสาทราชฐานและเครื่องประกอบทางเมืองของ

มัณฑะเลย์ก็คงสูญหรือกลายเป็นอย่างอื่นไปนานแล้ว อาศัยคำสั่งของหลอดเคอสันแต่ครั้งนั้น จึงได้เปิดการรักษาของเดิมในเมืองพม่า ว่าเฉพาะเมืองมัณฑะเลย์แม้จนทางเข้าประตูเมืองที่ต้องเลี่ยง

หลีกลับแล แม้ลำบากแก่การใช้รถยนต์ในสมัยนี้ก็ให้อยู่อย่างเดิมเป็นแต่ตั้งเครื่องสัญญาณและวางตำรวจประจำสำหรับบอกมีให้รถสวนกันที่ตรงนั้น

ทุกวันนี้ชาวต่างประเทศไปถึงเมืองมัณฑะเลย์ แต่พอเห็นแนวกำแพงพระนครรักษาไว้เรียบร้อยและบนนั้นมีปราสาทแบบพม่าอยู่เป็นระยะและมีคูกว้างใหญ่น้ำใสสะอาด ขัวอยู่ข้างนอก แนวกำแพงเมืองก็รู้สึกว่าเป็นสง่าสมกับเป็นราชธานีมาแต่ก่อน ถ้าจะเปรียบเมืองมัณฑะเลย์กับเมืองอื่นที่ฉันเคยเห็นมา ดูคล้ายกับเมืองเชียงใหม่มากยิ่งกว่าเมืองอื่น เป็นแต่เมืองเชียงใหม่เล็กกว่าและมิได้รักษาเหมือนอย่างเมืองมัณฑะเลย์ แม้ดิน น้ำ อากาศจะคล้ายกัน..”
จากพระนิพนธ์จะเห็นว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านทรงชมสรรเสริญหลอดเคอสัน ชาวอังกฤษที่พยายามต่อสู้เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานของพม่าเอาไว้ แถมยังทรงตำหนิเมืองเชียงใหม่อีกด้วยว่า “มิได้รักษาไว้เหมือนอย่างเมืองมัณฑะเลย์” และคนเชียงใหม่ในรุ่นหลังยังบังอาจรื้อกำแพงเมืองทิ้งไปเสียอีก นอกจากจะรื้อทิ้งแล้วบางส่วนที่ยังเหลืออยู่นั้นก็สร้างเสริมขึ้นมาใหม่ จนมองไม่เห็นรูปรอยเดิม จนทำให้สมบัติอันเก่าแก่ของชาติที่บรรพบุรุษสร้างไว้ด้วยหยดเลือดและหยาดเหงื่อต้องกลายเป็น “วัตถุโบราณที่ทันสมัย” ไปเสียนี่ คนในชั้นหลังจึงไม่มีจิตสำนึกหวงแหนของสำคัญที่มีคุณค่าเท่าที่ควร

ในการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ขึ้นแต่เดิม พงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า “เมื่อพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นแล้ว ได้ทรงขุดคูเมืองทั้งสี่ด้านนำเอาดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง คือประตูหัวเวียง(ช้างเผือก) ,ประตูท้ายเวียง(เชียงใหม่) ,ประตูท่าแพและประตูสวนดอก”

การที่เปลี่ยนชื่อจากประตูหัวเวียงมาเป็นประตูช้างเผือกและประตูท้ายเวียงมาเป็นประตูเชียงใหม่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการในตำนานเมืองเชียงใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนตามความเข้าใจของคนในสมัยก่อนเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกขึ้นในภายหลัง ส่วนประตูสวนดอกซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง เป็นเส้นทางออกไปยังวัดสวนดอกและเวียงสวนดอก
คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อตามวัดสวนดอก ตำนานเมืองเชียงใหม่ต่อมาจึงเรียกชื่อประตูนี้ว่าประตูสวนดอกไปด้วย ปี พ.ศ.2508 ได้มีรายงานการสำรวจและศึกษานอกสถานที่ของชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการสำรวจแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอกหรือกำแพงดินขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจจะอยู่ในยุคสมัยเดียวกันกับกำแพงเมืองเชียงใหม่

การสำรวจเริ่มต้นที่กำแพงดินตรงที่ต่อจากป้อมด้านหลังโรงพยาบาลสวนปรุง กำแพงดินนี้บางส่วนถูกรื้อเพื่อทำถนนปละปลูกบ้านเรือนอาศัยจนไม่เหลือร่องรอยเดิมให้เห็น จากการสำรวจโดยตลอดทำให้ทราบว่ามีป้อมหลงเหลือให้เห็นเพียง 3 แห่ง ก่อด้วยอิฐแข็งแรงมาก สภาพปัจจุบันหักพังไปบ้างแล้ว จากการสำรวจแนวกำแพงไปจนถึงหน้าวัดสันติธรรม พบว่า กำแพงตอนนี้มีแนวหักเป็นมุมหยัก ๆ มีเศษอิฐกองอยู่ทั่วบริเวณ คาดว่าบริเวณนี้อาจจะเป็นที่ตั้งของวัดแต่โบราณ จากนั้นแนวกำแพงพุ่งตรงออกไปตัดกับถนนห้วยแก้ว คาดเอาตามทิศทางของกำแพงแล้ว

กำแพงเดิมจะบรรจบกับกำแพงใหม่ตรงจุดที่ห่างจากป้อมของกำแพงอิฐประมาณ 100 เมตร ตลอดแนวกำแพงดินที่สำรวจมีคูกว้างประมาณ 25 เมตรคือลำน้ำแม่ข่า,ลำน้ำช่างเคี่ยนและลำห้วยแก้ว ลักษณะที่พอจะทราบของเมืองเชียงใหม่เดิมเป็นรูปรีอยู่ห่างจากแม่น้ำปิง ที่ตั้งของเมืองลักษณะนี้คล้ายกับเมืองสุโขทัยซึ่งตั้งอยู่ห่างจากลำน้ำยม
สำหรับกำแพงเมืองที่ก่อด้วยอิฐ หรือ กำแพงเมืองรุ่นหลังที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละ เมื่อ พ.ศ.2339 นั้น ตามพงศาวดารโยนกกล่าวว่า ได้ก่อสร้างกำแพงเมืองใหม่ทั้งสี่ด้าน ทำป้อมทั้งสี่มุมและมีประตูเมืองห้าแห่ง ดร.ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่ากำแพงในรุ่นหลังนี้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าต้องการเอาเชียงใหม่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ สำหรับเดินทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยของพระเจ้าไชยราชาจึงทำอุบายส่งทูตมาเชียงใหม่ นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าเชียงใหม่และช่วยซ่อมค่ายคูประตูหอรบให้ จนเชียงใหม่ไว้วางใจ พม่าจึงสร้างกำแพงดินขึ้นเป็นรูปเกือกม้าตั้งแต่แจ่งศรีภูมิโค้งโอบรอบตัวเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ไปจนถึงแก่งกู่เฮือง ความจริงก็เพื่อป้องกันทัพของกรุงศรีอยุธยามิให้เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่นั่นเอง ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนั้นพม่าไม่สร้างเพราะเป็นที่พม่าจะยกทัพมาเชียงใหม่

การสร้างกำแพงเมืองที่มีลักษณะพิลึกเช่นนี้ เชื่อว่าเป็นเหตุให้ชะตาเมืองเชียงใหม่ขาดตั้งแต่บัดนั้นมา จนสูญเสียอิสรภาพตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในที่สุดในหนังสือ “กำแพงเมืองเชียงใหม่” ซึ่งเขียนโดยคุณศิริชัย นฤมิตรเรขการ จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในอนุสรณ์พิธีเปิดและฉลองประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2529 ได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงการสร้างกำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่จากภาพถ่ายในอดีตเมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว เช่นประตูสวนปรุงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง จะมีกลุ่มต้นยางสูงใหญ่ 4 ต้นที่เหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งคุณทิว วิชัยขัทคะ อธิบายไว้ในหนังสือ “ล้านนาไทย” ว่าภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2470 – 2471 คือเมื่อ 80 ปีมาแล้ว ต้นยางทั้ง 4 ในขณะนั้นคงมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 – 50 ปี ซึ่งก็หมายความว่าในปัจจุบันต้นยางเหล่านี้คงมีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี
นอกจากนั้นในหนังสือ “ลานนาไทยในอดีต” ของบุญเสริม สาตราภัยยังกล่าวถึงประตูหัวเวียงของเชียงใหม่ว่า “ประตูหัวเวียง” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ประตูช้างเผือก” การเปลี่ยนชื่อจากประตูหัวเวียงมาเป็นประตูช้างเผือกและประตูท้ายเวียงมาเป็นประตูเชียงใหม่ ไม่ปรากฏหลักฐานในการสั่งเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการเปลี่ยนชื่อตามความเข้าใจของคนสมัยก่อนหลังจากที่มีการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกขึ้นในภายหลัง สำหรับประตูหัวเวียงในภาพ ถ่ายเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ องค์สมเด็จพระยุพราช (รัชกาลที่ 6) เสด็จประพาสเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2449 ทางการได้สร้างซุ้มรับเสด็จอย่างสวยงาม ระหว่างประตูเมืองประดับด้วยธงช้างเผือก ซึ่งเป็นธงชาติไทยในสมัยนั้น

แม้ว่ากำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่จะได้รับการบูรณะและสร้างขึ้นใหม่ ในท่ามกลางความคิดของผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้าน การนำเสนอบทความชิ้นนี้มิได้มีเจตนาที่จะตอกย้ำและขัดแย้งกับแนวคิดของผู้รู้ที่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างถ่อแท้ หากแต่ต้องการที่จะเสนอให้เป็นความรู้สำหรับคนรุ่นหลังได้ศึกษาและหวนรำลึกถึงคุณค่าประวัติศาสตร์ของกำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่เท่านั้น.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น