น่าสลดใจ ไฟป่าพลัดพราก พ่อแม่ลูกไก่ป่า

น่าสลดใจ ไฟป่าพลัดพรากทั้งพ่อแม่ลูก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่น่าสงสาร ลูกน้อยไก่ป่า จนท.ช่วยได้บางส่วน แม่หนีเตลิด ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า อ.พร้าว ร่วมกับดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนอกเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่เสียหายทั้งหมด 18 ไร่

นายปธิกร เอี่ยมสะอาด ปลัด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ นายพงษ์ศักดิ์ วุฒิสาร หน.สายตรวจชุดที่ 2 หน่วยพิทักษ์ที่ ศรีลานนา (แม่แพง-ม่อนหินไหล) และ จนท.ทต.แม่ปั๋ง จนท.สถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา 30 กว่านาย ร่วมกันดับไฟป่า บริเวณศูนย์วิจัยพัฒนาเกษตร ม.แม่โจ้ ท้องที่ ม.1 ต.แม่ปั๋ง  หลังขึ้นบินสำรวจพบมีกลุ่มควันไฟลอยฟุ้งอยู่เต็มอากาศ จึงได้ประสานหน่วยลาดตระเวน พร้อมแจ้งพิกัดก่อนจะเข้าดับไฟป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จึงสามารถดับไฟป่าไม่ให้ลุกลามไปในพื้นที่อื่นได้ พร้อมกับช่วยลูกไก่ป่า 1 ตัว ที่พลัดหลงกับแม่ของมัน ที่ตกใจวิ่งหนีไฟป่า
หลังจากดับไฟป่าแล้วเสร็จ จนท.ได้ติดตามหาตัวแม่ไก่ป่าจนพบ และนำลูกไก่ไปส่งให้กับแม่ไก่ เพื่อพาลูกกลับไปเลี้ยงในป่าต่อ
สำหรับเหตุการณ์ไฟป่าครั้งนี้ จนท.ยังไม่ทราบสาเหตุ จากการสำรวจเบื้องต้นมีพื้นที่ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด 18 ไร่

สำหรับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ขณะนี้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นทุกอำเภอทำให้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.ได้มีประกาศให้ทั้ง 25 อำเภอให้นำเรื่อง มาตรการในการขออนุญาตเข้าป่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ประจำปี 61 เนื่องจากขณะนี้เกิดสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ ค่า PM 10 มีแนวโน้มสูงขึ้น และได้รับผลกระทบจากกระแสลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาหมอกควันอันเกิดจากจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน และจังหวัดใกล้เคียง
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ให้เป็นไปอย่างมีประ สิทธิภาพ จึงกำหนดมาตรการในการขออนุญาตเข้าป่าในพื้นที่ จำนวน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 31 มี.ค. โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1.บุคคลใดมีความประสงค์เข้าพื้นที่ป่า ให้มาลงทะเบียนขออนุญาตต่อ นอภ. ในฐานะ ผอ. หรือผู้ที่ นอภ.มอบหมาย 2.ให้แจ้งและกำหนดเส้นทางเข้าออก แสดงเหตุผล พร้อมนำบัตรประชาชนมาแสดงต่อผู้อนุญาต และให้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน 3.ผู้ที่ได้รับอนุญาตห้ามนำอุปกรณ์ก่อให้เกิดไฟทุกชนิดเข้าป่า ซึ่งมาตรการหรือรายละเอียดในการดำเนินการ ให้ นอภ.สามารถกำหนดเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยจะคุมเข้มและดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานราชการ อำเภอ รัฐวิสาหกิจ และ อปท.ทุกหน่วยงาน ถือปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี โดยไม่ให้มีการเผาทุกชนิด และควบคุมไม่ให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น ถนน อาคารสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ให้ควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นละอองโดยเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน ได้ขอความร่วมมือ อปท.ในพื้นที่ หากท้องที่ใดมีค่า PM 10 มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้ปฏิบัติการสร้างความชุ่มชื้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้ประชาชนช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ให้แก่บริเวณพื้นที่อยู่อาศัย ด้วยการรดน้ำต้นไม้ สนามหญ้า หรือพ่นละอองน้ำบนหลังคาที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณฝุ่นละออง ที่อยู่ในบริเวณรอบๆที่อยู่อาศัยได้อีกทางหนึ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น