รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่เชียงใหม่ ประชุมมอบนโยบาย ปฎิบัติการฝนหลวง ยับยั้งลูกเห็บ และปฎิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาประชุม และมอบนโยบาย การดำเนินงานโครงการความร่วมมือ กับกองทัพอากาศ ในการปฎิบัติการฝนหลวง ยับยั้งความรุนแรงของการเกิดลูกเห็บ ในพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2561 โครงการปฎิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ และการปฎิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2561 โดยมี อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วย ผวจ.เชียงใหม่ และจนท. เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมและรับฟังนโยบายในการ ดำเนินโครงการในครั้งนี้

โดยทาง รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสภาวะภัยแล้งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันความรุนแรงจากสภาวะภัยแล้ง และการเกิดพายุลูกเห็บ ได้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมความพร้อมในการปฎิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาภัยพิบัติและภัยแล้งตามยุทธศาสตร์การบรร เทาภัยพิบัติของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าว ด้วยเทคนิคการปฎิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการหนึ่งในการดัดแปรสภาพอากาศ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้ ในตำราฝนหลวงพระราชทาน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับเทคนิคการปฎิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น จะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air) ซึ่งสารฝนหลวงที่ใช้กับเลขเย็น หรือเมฆที่อุณหภูมิภายในต่ำกว่า 0 องศา หรือ ซิลเวอร์ไอโอไดด์ เป็นสารที่ผลึก มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ ภายในเมฆเย็นจะมีเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดปริมาณมาก การเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำแข็งในเมฆ จะเป็นการเร่งกระบวนการทางธรรมชาติที่เดิมมีปริมาณการผลิตน้ำแข็งอยู่น้อย เพื่อทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งปริมาณมากขึ้น และเกิดการยกตัวของเมฆจากการคลายความร้อนแฝง ได้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าธรรมชาติ ซึ่งเมฆที่เกิดในฤดูร้อน มักทำให้เกิดพายุดูร้อน และอาจมีลูกเห็บเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเมฆมีการยกตัวอย่างรวดเร็ว และมีแกนน้ำแข็งภายในเมฆน้อย น้ำแข็งที่อยู่ในเมฆหรือยอดเมฆร่วงหล่นลงมาถึงพื้นโดยที่ละลายไม่ทัน

สำหรับเทคนิคการปฎิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น เพื่อเพิ่มแกนผลึกน้ำแข็งให้มากกว่าการปฎิบัติการเมฆเย็นตามปกติ จะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากแกนผลึกน้ำแข็งปริมาณมาก พี่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้ จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้น สามารถลดความเสียหายได้

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา โดยใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งประจำการอยู่ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจ.พิษณุโลก และในช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ เพื่อใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็ว ในการเข้าถึงเป้าหมายประจำการหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมกันปฎิบัติการฝนหลวง ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บด้วยการใช้วิธีโจมตีด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ ไปเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำ

โดยที่ผลึกน้ำแข็งจะละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เพื่อลดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของประชาชน อันจะเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามนโยบายโครงการไทยนิยมยังยืน ตามกรอบหลักการที่ 3 ชุมชนอยู่ดีมีสุข ในการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพและรายได้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตามศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเหนือ ยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือพื้นที่ร้องขอทันที ที่สภาพอากาศเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต พื้นที่ประสบภัยและอื่นๆ

นอกจากนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีหนึ่งในภารกิจหลัก ในการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า บริเวณพื้น ที่ภาคเหนือด้วยการดัดแปรสภาพอากาศ ตัวการหนึ่งของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาหมอกควัน คือ ชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน (Inversion Layer) อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามระดับความสูง ซึ่งปกติในบรรยากาศชั้น โทรโพสเฟียร์ (Troposphere) อุณหภูมิจะลดลงตามระดับความสูง ที่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณ 6.4 องศา/ความสูง 1,000 เมตร ระดับที่เกิดชั้นอุณหภูมิบรรยากาศผกผัน เปรียบเสมือนชั้นที่ขวางกั้นการลอยตัวของฝุ่นละอองหรือสารแขวนลอย (Aerosol) จากพื้นผิวโลกสู่บรรยากาศด้านบน เนื่องจากอุณหภูมิของฝุ่นละอองต่ำกว่าชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ฝุ่นละอองหรือสารแขวนลอย จึงถูกกักตัวอยู่ที่ระดับล่างใกล้พื้นผิวโลก ส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น สุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงพยายามคิดค้นเทคนิคในการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันขึ้น ในกรณีที่สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปฎิบัติการฝนหลวง โดยอาศัยหลักการในขั้นตอนที่ 4 ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตร 4 หรือน้ำแข็งแห้ง เป็นสารฝนหลวงสูตรเย็นที่มีอุณหภูมิเย็นจัดลดลงถึง -80 องศา สามารถทำให้อากาศเย็นจมตัว เพิ่มความกดอากาศและเพิ่มความชื้นในบรรยากาศ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อทำการโปรยสารฝนหลวงสูตร 4 บริเวณเหนือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน จากสมมุติฐานข้างต้น จะทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิลดต่ำลง และจะส่งผลให้ฝุ่นละออง และสารแขวนลอยที่อออยู่ ใต้ชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันลอยขึ้นในบรรยากาศระดับบนได้

การปฎิบัติการฝนหลวงดังกล่าว จะใช้เครื่องบินเมฆอุ่น (CASA) จำนวน 2 ลำ สำหรับโปรยน้ำแข็งแห้งและเครื่องบินวิจัย (Super King Air) จำนวน 1 ลำ สำหรับตรวจวัดฝุ่นละอองและองค์ประกอบอื่นๆ ปฏิบัติการร่วมกัน โดยมีพื้นที่เป้าหมายทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค.61 นี้ อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน เพื่อให้ฝนชะล้างฝุ่นละอองในอากาศ ในกรณีที่สภาพอากาศเอื้อต่อการปฎิบัติการฝนหลวง

ร่วมแสดงความคิดเห็น