เชียงใหม่ แจงไฟป่าหมอกควันยังไม่รุนแรง ชี้ปัจจัยทางอุตุเป็นตัวเสริม ไหม้ดอยสูงที่ดอยเต่า กำนันมืดกานำทีมเข้าดับ ใช้เวลาเข้าพื้นที่กว่า 4 ชม.

ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายธนา นวลปลอด หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สนง.ปภ.จ.เชียงใหม่ นายวรพจน์ คุณาวิวัฒนางกูร นักอุตุนิยม วิทยาชำนาญการพิเศษ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์ปัญหาไฟป่าหมอกควัน และสภาพอากาศที่เป็นปัจจัยหนุนเสริม ให้เกิดปัญหาในพื้นที่ จเชียงใหม่

นายธนา นวลปลอด กล่าวว่า โดยภาพรวมของปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงในช่วงการประกาศห้ามเผาเด็ดขาดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-26 มี.ค.61 จ.เชียงใหม่ มีการตรวจพบจุดความร้อนสะสม หรือ จุด Hot Spot รวม 132 จุด อำเภอที่พบจุดความร้อนมาก 3 ลำดับแรก ได้แก่ อ.อมก๋อย 24 จุด ,อ. เชียงดาว 18 จุด และ อ.ฮอด 13 จุด และหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 เป็นต้นมา พบว่าเชียงใหม่มีจุดความร้อนสะสมรวม 414 จุด โดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสะสมสูงใน 3 อันดับแรก ได้แก่ อ.แม่แจ่ม 61 จุด ,อ.ฮอด 56 จุด และ อ.อมก๋อย 55 จุด

ทั้งนี้หากเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา พบว่า ในช่วงการประกาศห้ามเผาเด็ดขาด ในปี 58 จ.เชียงใหม่ มีจุดความร้อนสะสมรวม 1,882 จุด ,ปี 59 จำนวน 558 จุด, ปี 60 จำนวน 609 จุด ในขณะที่สถานการณ์ในปีนี้ จ.เชียงใหม่ มีจุดความร้อนสะสมในช่วงการห้ามเผาเด็ดขาดยังอยู่ที่ตัวเลข 132 จุด

ส่วนการเก็บข้อมูลค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ หรือ ค่า PM10 พบว่า ช่วงระหว่างวันที่ 1- 25 มี.ค. 61 จำนวนวันที่ค่า PM10 เกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรับ/ลบ.ม. 6 วัน โดยค่าที่เกินวันได้สูงสุดที่ 145 ไมโครกรัม/ลบ. ม. ทั้งนี้ในปี 59 ค่า PM10 เกินกว่าค่ามาตรฐาน 10 วัน ค่าที่เกินสูงสุดอยู่ที่ 192 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ส่วนปี 60 ค่า PM10 เกินค่ามาตรฐาน 14 วัน ค่าที่เกินสูงสุดอยู่ที่ 153 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ทั้งนี้การช่วงเวลาการประกาศการห้ามเผาเด็ดขาดในปี 61 ยังเหลือระยะเวลาอีกกว่า 23 วัน โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 20 เม.ย.61 นั่นหมายความว่าทุกภาคส่วน ยังต้องเข้มในการเฝ้าระวังการเกิดการเผาในที่โล่งทุกรูปแบบอย่างเข้มข้นต่อไป

สำหรับผลการดำเนินการ ในการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงการเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควันในปี 61 นี้ มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดและทำการปรับแล้วทั้งสิ้น 4 ราย โดยเป็นเหตุในพื้นที่ ต.อมก๋อย และ ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย รวม 2 ราย ,ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว และ ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง อำเภอ ละ 1 ราย

ด้าน นายวรพจน์ คุณาวิวัฒนางกูร จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นแอ่งกระทะตัวเมืองจะมีเขาล้อมรอบ ซึ่งปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยามีลมอยู่ 2 ประเภท ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและส่งผลต่อสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ ลมภูเขา และลมหุบเขา โดยลมภูเขา หรือ Mountain Breeze เป็นลมที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เมื่ออากาศเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ความกดอากาศบริเวณพื้นที่สูงจะมีมากกว่า เนื่องจากพื้นดินคายความร้อนได้เร็วกว่า อากาศบริเวณภูเขาจะไหลลงมาสู่หุบเขา เกิดเป็นลมภูเขาในเวลากลางคืนและช่วงเวลาเช้า

โดยนำเอาความเย็นลงมาสู่หุบเขา และถ้าหากอากาศ เย็นและชื้นมาก จะก่อให้เกิดหมอกหนาทึบปกคลุมหุบเขา หรืออาจเกิดน้ำค้างแข็งได้ด้วยเช่นกัน ส่วนลมหุบเขา หรือ Valley Breeze เกิดขึ้นในเวลากลางวัน ซึ่งบริเวณยอดเขาและลาดเขา จะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากกว่าบริเวณหุบเขา ทำให้อากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น และอากาศบริเวณหุบเขาที่เย็นกว่า เกิดความกดอากาศสูงแล้วเคลื่อนตัวเข้าไปแทนที่อากาศที่ร้อนบริเวณลาดเขาและยอดเขา ทำให้เกิดลมหุบเขา ซึ่งลมดังกล่าวมีทิศทางการพัดจากหุบเขาขึ้น ไปสู่ลาดเขาและยอดเขา และช่วยในการระบายความร้อนจากหุบเขาไปตามลาดเขาได้ดีในเวลากลางวัน

ในพื้นที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ นายเสงี่ยม ใจรินทร์ กำนัน ต.มืดกา รายงานว่า ได้รับรายงานว่าในพื้นที่บนดอยแก้ว ม.5 และบนดอยหลวง ม.4 ต.มืดกา เกิดไฟไหม้ป่า จึงออกปฏิบัติการเพื่อดับไฟป่าตามที่ได้รับแจ้ง พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการประจำ ต.มืดกา ปลัดป้องกัน อ.ดอยเต่า ชุด จนท.ทหาร จนท.หน่วยพิทักษ์ป่าดอยเต่า และ จนท.อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ไฟป่าอมก๋อย ทั้งนี้การเดินทางต้องใช้โป๊ะบรรทุกรถ จ.ย.ย.ข้ามทะเลสาบดอยเต่าเข้าไปส่งบริเวณเชิงเขา เพื่อเดินทางเข้าไปจุดเกิดไฟ โดยใช้เวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง กระทั่งถึงที่หมายและทำการดับไฟได้บางส่วน

“ปัญหาที่พบในการเข้าไปดับไฟในพื้นบนเขา จนท.ต้องทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งในแต่ละจุดกว่าจะถึงพื้นที่ที่เกิดไฟต้องใช้เวลานานมาก นอกจากนี้จะต้องปฏิบัติการให้ได้มากที่สุดก่อนฟ้ามืด เนื่องจากพื้นที่เป็นเขา ทั้งชัน ทั้งลื่น กลางคืนไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการดับไฟได้ เพราะเป็นอันตรายต่อ จนท.อย่างมาก ในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งนี้ใช้เวลาเข้าพื้นที่เพื่อดับไฟ 2 วัน ส่วนสาเหตุของการเกิดไฟก็มาจากพวกหาของป่า ซึ่งพื้นที่นี้ควบคุมการไปในป่าได้ยากมาก เพราะชาวบ้านเข้าออกป่าได้หลายทางมาก” กำนัน ต.มืดกา กล่าว

ทั้งที่มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับเรื่องการเข้าป่า การเผาป่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเรื่อยมา แต่ยังปรากฏว่ามีการเผาเกิดขึ้นอีก

ร่วมแสดงความคิดเห็น