อดีตการทำไม้ในแม่ฮ่องสอน

นับตั้งแต่อดีตไม้สักคือปัจจัยสำคัญที่ก่อกำเนิดเมืองแม่ฮ่องสอน การทำไม้อย่างเป็นล่ำเป็นสันในดินแดนแถบนี้ดำเนินเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ.2533 รัฐบาลประกาศปิดป่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าป่าไม้จะถูกตัดโค่นไปเป็นจำนวนมาก ทว่าแม่ฮ่องสอนยังเหลือพื้นที่ป่าอยู่ถึงประมาณร้อยละ 69 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่น่าเป็นห่วงว่าปัจจุบันยังคงมีการลักลอบตัดไม้และเผาป่าเป็นประจำทุกปี อาจทำให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

การทำไม้ในแม่ฮ่องสอนเริ่มต้นเมื่ออังกฤษได้แผ่ขยายอำนาจการปกครองเข้ามาในประเทศพม่าเมื่อหลังสงครามที่อังกฤษชนะพม่าเมื่อปี พ.ศ.2369 บทบาทของอังกฤษดูจะเด่นชัดและก็เริ่มเข้ามาทำธุรกิจค้าขายในดินแดนแถบนี้ด้วย หนึ่งในธุรกิจที่สำคัญก็คือ การค้าไม้สัก

เนื่องจากไม้สักในภูมิภาคนี้เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติคงทนต่อสภาพภูมิอากาศและทนทานต่อการเจาะทำลายของปลวก ทั้งยังเป็นไม้คุณภาพดีมีลวดลายที่สวยงาม กิจการการทำไม้สักได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วและได้มีการตั้งบริษัททำไม้ขึ้นในประเทศพม่า เช่นบริษัทบริติสบอร์เนียวและบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการโรงเลื่อยจักรขึ้นที่เมืองมะละแหม่งจากหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ที่กลายมาเป็นเมืองท่าส่งออกไม้สักที่สำคัญเมืองหนึ่งของพม่า

บริษัทของอังกฤษทำไม้อยู่ในพม่านานหลายปี จนปริมาณไม้สักในพม่าเริ่มร่อยหรอ ชาวอังกฤษรวมทั้งชาวพม่า ไทยใหญ่ กะเหรี่ยงและตองสู จึงได้เริ่มเข้ามาทำไม้สักในเขตล้านนา ปี พ.ศ.2375 เจ้ามโหตรประเทศ ได้มอบหมายให้เจ้าแก้วเมืองมา ออกไปสำรวจป่าแถบตะวันตกและจับช้างป่ามาฝึกใช้งานชักลากไม้ เจ้าแก้วเมืองมาได้นำขบวนคล้องช้างป่าผ่านไปทางเมืองปายมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก จากนั้นจึงล่องลงทางทิศใต้ไปตามลำน้ำปาย จนกระทั่งพบทำเลที่เหมาะสม จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำปาย จากนั้นก็ได้ตั้งค่ายพักแรมพำนักอยู่ที่นั่น เจ้าแก้วเมืองมาได้เรียกประชุมชาวบ้านมาแนะนำให้บุกเบิกที่ดินทำไร่ แต่งตั้งให้ผู้นำหมู่บ้านชาวไทยใหญ่ชื่อ พะก่าหม่อง เป็นผู้นำและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า โป่งหมู ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีโป่งดินอยู่ทั่วไปและมีหมูลงมากินดินโป่งชุกชุม ต่อมาชื่อหมู่บ้านได้เพี้ยนมาเป็น “ปางหมู”

จากนั้นเจ้าแก้วเมืองมาก็ได้เคลื่อนขบวนลงมาทางใต้ เมื่อมาถึงริมห้วยใกล้หมู่บ้านไทยใหญ่แห่งหนึ่ง เห็นเป็นทำเลเหมาะจึงได้หยุดพักตั้งค่าย ส่งบรรดาไพล่พลช้างต่อหมอควาญออกตระเวนจับช้างป่าและตั้งคอกฝึกช้างที่บริเวณริมห้วยและได้ส่งให้แสนโคม บุตรเขยของพะก่าหม่องที่ติดตามมาด้วยไปชักชวนผู้คนจากบริเวณใกล้เคียงมาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน ให้ชื่อว่า แม่ฮ่องสอน ซึ่งหมายถึงร่องน้ำอันเป็นที่ฝึกสอนช้างและได้แต่งตั้งให้แสนโคมเป็นผู้ใหญ่บ้าน
เวลาต่อมาพะก่าหม่องและแสนโคมได้เข้าเฝ้าเจ้ามโหตรประเทศและได้ขอตัดไม้สักในดินแดนแถบนี้ส่งไปขายยังเมืองมะละแหม่ง เจ้ามโหตรประเทศก็ทรงยินยอมโดยมีเงื่อนไขให้ทั้งสองจัดแบ่งเงินค่าตอไม้มาถวายทุกปี กระทั่งในปี พ.ศ.2399 เกิดการรบพุ่งแย่งชิงความเป็นใหญ่กันในหมู่หัวเมืองไทยใหญ่แถบตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงมีชาวไทยใหญ่จำนวนมากได้พากันอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้างปางหมู แม่ฮ่องสอนและเมืองปาย ซึ่งในจำนวนนั้นมีชายหนุ่มที่ชื่อ “ชานกะเล” แต่แรกเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านปางหมู ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้ไปครองเมืองขุนยวม

จากนั้นมาแม่ฮ่องสอนซึ่งเคยเต็มไปด้วยป่ารก ก็เริ่มมีชาวไทยใหญ่มาตั้งหลักปักฐานกันมากขึ้น นอกจากชาวบ้านที่ไปบุกเบิกที่ดินทำไร่นาแล้ว ก็ยังมีชาวไทยใหญ่และตองสูที่เชี่ยวชาญการทำไม้จากเขตพม่าเริ่มเข้ามาหาช่องทางทำกินในฝั่งไทยกันมากยิ่งขึ้น

เมื่อแม่ฮ่องสอนได้กลายเป็นชุมชน เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในเวลานั้น ทรงตระหนักถึงความสำคัญของหมู่บ้านแห่งนี้ จึงได้ทรงยกฐานะให้แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองหน้าด่าน โดยมีเมืองปายและขุนยวมรวมอยู่ในอาณาเขตด้วย ส่วนเมืองเมืองสะเรียงให้ขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ และได้แต่งตั้งให้คนในท้องถิ่นคอยเป็นหูเป็นตาและส่งส่วยลงอากรให้แก่เจ้าเมืองเชียงใหม่ปีละครั้ง ชานกะเลจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองคนแรกแต่ชาวเมืองพากันยกย่องว่าเป็นเจ้าฟ้า ตามแบบเจ้าผู้ครองนครในเมืองไทยใหญ่ของรัฐฉาน

ในสมัยพญาสิงหนาท เมืองแม่ฮ่องสอนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขุดสร้างขอบคูประตูเมืองเมื่อปี พ.ศ.2428 ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยพอให้เห็นเป็นแนวได้ นอกจากนี้ยังมีย่านตลาดที่เรียกว่า “ป๊อกกาดเก่า” ซึ่งอยู่ติดกับวัดม่วยต่อในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการค้าเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนนี้แล้ว.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น