“น้ำตกห้วยแก้ว-วังบัวบาน” ตำนานรักอมตะที่มิเคยลืมเลือน สวรรค์กลางเมืองเชียงใหม่ ที่ผู้คนทุกชาติทุกภาษา ต้องไปเยือน

เมื่อเอ่ยถึง”น้ำตกห้วยแก้ว”ก็นึกถึง”วังบัวบาน”เพราะตั้งอยู่สายน้ำเดียวกัน ซึ่งคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน น้อยคนนักที่จะรู้ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งนี้ มีความเป็นมาอย่าง ไร ด้วยความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจนัก เลยมองข้ามสถานที่แห่งนี้ไป ทั้งที่ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ การเดินทางก็สะดวกโดยเส้นทางถนนห้วยแก้ว ผ่าน มช.และสวนสัตว์เชียงใหม่ไปเล็กน้อยไม่กี่ 100 เมตร จุดแรกคือที่ตั้งของอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เป็นที่เคารพนับถือของคนไทยทั่วประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติต้องแวะกราบไหว้ขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว

ซึ่งจุดนี้เส้นทางหลักแยกขวา เป็นถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ส่วนเส้นทางซ้ายเป็นทางเดินเท้าเข้าสู่ น้ำตกห้วยแก้ว-วังบัวบานและผาเงิบ เมื่อลัดเลาะขึ้นไปตามสายน้ำผ่านโขดหิน น้อยใหญ่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศที่ร่มรื่นเย็นสบายอย่างเป็นธรรมชาติ

วันนี้ (28 มี.ค.61)สภาพอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ และตามอำเภอรอบนอก พุ่งกระฉูดเฉียด 40 องศา ทำให้ร้อนอบอ้าวมาก หายใจก็อึดอัด ทั้งแสบทั้งคันเหนียวเหนอะหนะไปทั้งตัว นั่งครุ่นคิดอยู่นานไปคลายร้อนที่ไหนดี เลยนึกขึ้นได้ถึง”น้ำตกห้วยแก้ว”อยู่ใกล้แค่นี้ ทั้งที่ห่างเหินไม่ไปแวะเวียนร่วม 20 กว่าปีแล้ว เมื่อสมัยตอนหนุ่มวัยเอ๊าะๆพาสาวไปนั่งจีบตามประสา

และที่ไม่เคยลืม ก่อนที่จะเข้าไปน้ำตกห้วยแก้ว ก็ต้องแวะกราบไหว้นมัสการ”อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย”เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต จากนั้นก็เดินเท้าเข้าไปไม่กี่เมตร พอเข้าสู่เขตพื้นที่น้ำตกห้วยแก้ว แทบไม่น่าเชื่อเลย มีสายลมพัดมาเบาๆกระทบใบหน้ารู้สึกว่าเย็นสบาย ต่างกันราวฟ้ากับดินทีเดียว กับสภาพอากาศในตัวเมือง และพบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง มาท่องเที่ยวกัน บางคนบันทึกภาพเหล่าผีเสื้อ ที่บินมาดูดน้ำตามพื้นทราย ตามโขดหิน หลายๆคนลงเล่นน้ำ หนุ่มสาวนั่งจู๋จี้ นั่งพูดคุยด้วยอารมณ์ที่มีความสุข นอนบนโขดหินรับละลองน้ำที่ปลิวมาจากน้ำตกด้วยความเพลิดเพลินกัน ถึงแม้ว่าจะมีน้ำตกลงมาไม่มากนักก็ตาม เพราะอยู่ในช่วงหน้าแล้ง

เลยเหนือน้ำตกห้วยแก้วขึ้นไปนิดหน่อย ก็จะพบกับ”วังบัวบาน”เป็นวังน้ำวนที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูง ที่มีประวัติตำนานที่ยาวนานมาตั้งแต่อดีต วังน้ำนี้เดิมเรียกว่า “วังคูลวา” หรือ “วังกุลา” ตามเรื่องเล่าถึง”คูลวา-กุลา” ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่ง พลัดตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ ซึ่งคำว่า “คูลวา-กุลา” ในภาษาล้านนาหมายถึงแขกหรือฝรั่งชาวต่างชาติ กุลาดำหมายถึงแขก กุลาขาวหมายถึงฝรั่ง และเปลี่ยนชื่อ เป็น”วังบัวบาน” เมื่อ พ.ศ.2497 เมื่อมีเหตุหญิงสาวชื่อ “บัวบาน” ตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้

ซึ่งมีตำนานมากมายเกี่ยวกับ”วังบัวบาน” จึงขอเสนอตำนานหนึ่งพอคร่าวๆ “บัวบาน”เป็นชื่อหญิงสาวชาวเชียงใหม่คนหนึ่ง ชื่อจริงว่า ครูบัวบาน ไชยวงศ์แก้ว เป็นครูประชาบาล มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม มีชายหนุ่มมาติดพันธ์ บางตำนานก็ว่า มีคนรักเป็นนายทหารหน่วยราบจาก กทม.ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) บางตำนานว่าเป็นปลัดอำเภอ และได้มาสัญญารักกันที่วังน้ำวนแห่งนี้ ต่อมาคนรักได้กลับ กทม.พร้อมสัญญาว่าจะกลับมาแต่งงาน แต่คำสัญ ญานั้นกลายเป็นคำลวง เพราะคู่รักมีภรรยาอยู่แล้วจึงไม่กลับมา

ทำให้ครูบัวบาน ช้ำรักมากระโดดหน้าผาลงสู่วังน้ำวน ถึงแก่ชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2489 และเป็นข่าวดังที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ อันเป็นเมืองที่สงบเงียบในสมัยนั้น ข่าวกระพือออกไปหลายทอด หลายรุ่น หลายยุค หลายสมัย และเมื่อหลาย 10 ปีผ่านไป จึงกลายเป็นคำกล่าวขาน หรือการบอกต่อว่าสาเหตุการตาย ของครูบัวบานนั้นคือการเสียใจเพราะช้ำรัก และได้กลายเป็นตำนานวังบัวบานจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาทางหลานสาวของครูบัวบาน ได้ชี้แจงตำนานว่าคนรักของครูบัวบาน ไม่ใช่ทั้งทหารและปลัด มีรายละเอียดสามารถติดตามหรือสอบถามได้ที่ คุณศรัญญา ไชยวงศ์แก้ว โทรศัพท์ 08 1702 3177 E-mail : sarunya. [email protected]

อย่างไรก็ตามหากต้องการไปเที่ยวชมหรือไปพักผ่อนยัง น้ำตกห้วยแก้ว-วังบัวบาน ควรไปในช่วงหน้าแล้ง หรือหน้าหนาว ส่วนหน้าฝนไม่ควรไป เพราะเป็นฤดูน้ำหลากอาจจะเกิดอันตรายได้ และให้ปฎิบัติตาม”ป้ายบอกเตือนระวัง”โดยเคร่งครัด และผู้ไปเที่ยวควรรักษาความสะอาด นำอาหารเครื่องดื่มเข้าไปบริโภคแล้ว ควรนำขยะติดมือกลับมาด้วย

เสน่ห์ นามจันทร์ /รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น