หนุน 189 โครงการช่วยพัฒนาคุณภาพ เด็กด้อยโอกาส

ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ สำหรับเด็กด้อยโอกาส ชี้ สสส.หนุนงบ 189 โครงการ พัฒนาผู้มีจิตวิญญาณความเป็นครู ให้มีทักษะความรู้ จัดการกับปัญหาในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต-การศึกษาเด็กด้อยโอกาส
รศ.ดร.จิราภรณ์ ศิริทวี ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ สำหรับเด็กด้อยโอกาส สนง.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้รับทุนสนับสนุน (ภาคเหนือ) ที่โรงแรมฟูราม่า จ.เชียงใหม่ ว่า ในปีแรกนี้ ทาง สสส.ได้สนับสนุน 189 โครงการทั่วประเทศ อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 54 โครงการ และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เป็นโรงเรียน หรือศูนย์การศึกษา ที่ด้อยโอกาส อาทิ เด็กยากจน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ พิการ หรือเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงกับยาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
เช่น ที่โรงเรียนบ้านน้ำหอม ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ทำโครงการ“ร่วมสร้างพลังงานสารอาหารของชีวี บริโภคอย่างถูกวิธี สุขภาพดีถ้วนหน้า” เพราะเห็นว่าเด็กยากจนมาก ปกติจะได้รับประทานอาหารแค่วันละ 1-2 มื้อ คืออาหารกลางวันที่โรงเรียน และอาหารเย็นที่บ้าน ที่มีแค่เกลือ ผสมกับผงชูรส และพริก คลุกเคล้ากับข้าวกิน แต่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ลำพังเงินรายหัวของเด็กที่ทางรัฐบาลจ่ายให้กับโรงเรียน ไม่เพียงพอที่จะจัดการให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างพอเพียง ทุนของ สสส. ที่ครูนำไปดำเนินการ ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดเมนูอาหารกลางวันที่มีคุณภาพมากขึ้น และยังเจียดส่วนหนึ่งมาจัดอาหารเช้าให้เด็กด้วย
รศ.ดร.จิราภรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เด็กมาถึงโรงเรียน ยังไม่ทันได้เรียนหนังสือ มักจะไปขอยาธาตุน้ำ ขาวจากห้องพยาบาล เพราะปวดท้อง ดังนั้นแม้คุณภาพและสารอาหารที่จัดให้ในช่วงเช้า อาจจะยังไม่ได้ครบถ้วนเหมาะสม แต่อย่างน้อยก็ทำให้เด็กอิ่มท้อง มีแรงจูงใจให้อยากมาโรงเรียนตั้งแต่เช้า ลดปัญหาการมาสาย และโรคกระเพาะอาหารได้โดยปริยาย
อีกแห่งหนึ่ง ที่นับเป็นตัวอย่างของความพยายามที่ครูได้ดิ้นรน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ คือ ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติ บ้านห้วยพ่าน ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ที่ทำโครง“พัฒนากระบวนการเรียนการสอนจิตศึกษา เพื่อสุขภาวะของเด็กนักเรียน ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน” ในพื้นที่นี้เป็นชนเผ่าลัวะ มีแค่ 16 หลังคาเรือน และมีเด็ก 12-13 คน ซึ่งหากออกไปเรียนข้างนอก ต้องเดินไปประมาณ 10 กม. ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน จึงร่วมกันตั้งศูนย์การเรียนฯ และจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2558 แต่รัฐบาลไม่ให้อะไรเลย ทั้งอาหารกลางวัน และค่าจ้างครู
ครู คืออาสาสมัคร ที่เป็นคนในชุมชน และไม่ได้จบสายวิชาชีพครูมาโดยตรง บางคนจบเกษตร บางคนจบ ม.6 แต่มาสอนหนังสือ และเรียนรู้ทุกวิถีทางด้วยตนเอง เช่น จากอินเตอร์เน็ต ยูทูป เพื่อสอนนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักสูตรธรรมชาติ ไม่ใช่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เงินเดือนครูมาจากกองผ้าป่า และมูลนิธิแห่งหนึ่งให้ความช่วยเหลือ
“ลำพังเงินเดือนครู 4-5 พันบาท แทบไม่พอใช้ในการดำรงชีพ สะท้อนให้เห็นว่าคนที่จะเป็นครู ต้องเป็นด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพ และท่ามกลางความขาดแคลน เขาไม่ขาดแคลน สามารถกระเสือกกระสนช่วยตัวเองให้อยู่รอดได้ โดยพึ่งพาและเกื้อกูลกับธรรมชาติ” ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส กล่าว
สำหรับปีแรกนี้ พบว่าบางโครงการมีศักยภาพเดินหน้าต่อได้ด้วยตนเอง หรือมี อปท.ช่วยสนับสนุน แต่หลายแห่งยังต้องมีการหนุนเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จะได้ดำเนินโครงการและต่อยอดให้ยั่งยืนได้ ฉะนั้นการขยายผลในปีต่อไป แทนที่จะเพิ่มสถานศึกษาใหม่เข้ามาทั้งหมด ก็จะพิจารณาสถานศึกษาเก่าที่รับทุนในปีแรกก่อน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุผลสำเร็จ และครูมีขีดความสามารถที่จะดำเนินโครงการต่อไปได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น