“หลวงพระบาง” เมืองในฝันของนักเดินทาง

“หลวงพระบาง” เมืองในฝันของนักเดินทาง
ชื่อของ “หลวงพระบาง” ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจขึ้นมาทันที หลังจากที่นักเดินทางพากันไปเที่ยวแล้วกลับออกมาเล่าขานบอกต่อกันไม่ขาดสาย จนกระทั่งมีผู้คาดคะเนกันว่า ในอนาคตอีกไม่กี่ปีนักท่องเที่ยวจะหันเหความสนใจไปยังหลวงพระบางมากกว่า
เมืองเชียงใหม่บ้านเราเสียอีกและไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกฝรั่งมังค่าถึงได้เข้าไปยังหลวงพระบางกันมากมาย ราวกับว่าพวกเขากำลังเดินทางเข้าไปค้นหาอดีตกันยังไงยังงั้น
เมืองเล็กๆ ในโอบล้อมของขุนเขาทางตอนบนของลาวที่ชื่อ “หลวงพระบาง” ดูเหมือนว่าได้กลายเป็นดินแดนในฝันของคนเดินทางมานานหลายยุคสมัย ด้วยความไร้เดียวสาของเมืองนี้และวิถีชีวิตผู้คนปะปนกับศิลปวัฒนธรรม ยังคงทำให้หลวงพระบาง กลายเป็นรักแรก
พบของใครอีกหลาย ๆ คนที่เดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้เป็นครั้งแรก
ความสำคัญของเมืองหลวงพระบาง ไม่ได้อยู่ที่เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันเมืองแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจและคมนาคมที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่ง นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางไปเยือน
หลวงพระบางเป็นจำนวนมากในแต่ละปีแล้ว นักธุรกิจและเจ้าของกิจการลงทุนต่าง ๆ ก็มักเดินทางไปเมืองหลวงพระบางด้วยเช่นกัน จากอดีตที่การเดินทางไปหลวงพระบางมีความยากลำบาก แต่ปัจจุบันเมื่อการคมนาคมขนส่งมีความทันสมัยและสะดวกสบายขึ้น การไปเยือน
หลวงพระบางในวันนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องยากแต่อย่างใด
ที่นี่ลองมาดูกันว่าเมืองหลวงพระบาง ที่ใคร ๆ พากันร่ำลือว่าสวยงามนักหนา ว่ากันว่าสวยงามและบริสุทธิ์กว่าเชียงใหม่หลายเท่านัก มีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง เริ่มต้นจากเมื่อไปถึงหลวงพระบาง สิ่งแรกที่จะสัมผัสได้ก็คือวิถีชีวิตของคนลาวแห่งเมืองหลวงพระบาง

มรดกล้ำค่าของหลวงพระบางอยู่ที่ความเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา คือมีวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองไม่ต่ำกว่า 50 วัด สีเหลืองแห่งพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาครอบงำจิตใจของชาวหลวงพระบางมาเป็นเวลาหลายร้อยปี อารยธรรมในดินแดนแห่งนี้จึงมีผลพวงมาจาก
อิทธิพลของพุทธศาสนา โดยเฉพาะวัดแต่ละวัดนั้นเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวล้านช้าง ถ้าเราจะพิสูจน์กันง่าย ๆ ว่า พุทธศาสนาคือแก่นประเพณีวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง หรือไม่ก็ต้องตื่นตอนตีห้าลุกขึ้นมาดูการทำบุญตักบาตรตามริมถนน

ทุก ๆ เช้าชาวหลวงพระบางเกือบทุกครัวเรือนจะพากันออกมารอใส่บาตรพระสงฆ์ที่เดินเรียงแถวมาตามถนนกว่าร้อยรูป ในยามนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่คนหลวงพระบางเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ด้วยรอยยิ้มแห่งการทำบุญ อิ่มเอิบทั้งจิตใจและใบหน้า แทบไม่น่าเชื่อว่าเมืองเล็ก ๆ ที่มีถนนหลักแค่ 2-3 เส้นทอดผ่านกลางตัวเมือง ทว่ากลับมีวัดจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ฝั่งถนน หลวงพระบางอาจไม่ใช่เมืองเล็กธรรมดา หากแต่เป็นนครรัฐที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตไว้มากมาย
วัดเชียงทอง ถือได้ว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง วัดนี้มีผู้ให้ชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวโดยแท้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ระหว่างปี พ.ศ.2101-2103) ภายในโบสถ์มีพระประธานองค์ใหญ่ลักษณ์งดงามตามแบบศิลปกรรมล้านช้างตามเสาและผนังโบสถ์เขียนลวดลายปิดทองบนพื้นรักสีดำเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติทศชาติชาดก ด้านข้างอุโบสถมีหอพระพุทธไสยานสน์เล็ก ๆ ทาพื้นผนังสีชมพู ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปต้นไม้ เป็นภาพเรื่องราวในตำนานพื้นบ้าน สุดยอดพุทธศิลป์
สกุลช่างล้านช้างหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าคงมีการทำขึ้นใหม่เมื่อครั้งที่มีการซ่อมแซมวัดเชียงทอง ในปี พ.ศ.2471
 นอกจากนั้นตามถนนเล็ก ๆ หลังวัดเชียงทองยังมีชุมชนบ้านเรือนที่น่าแวะเยี่ยม บนถนนศรีสว่างวงศ์นั้นยังมีบ้านเรือนในแบบโคโรเนียลสไตล์ผสมผสานระหว่างอารยธรรมล้านช้างกับสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส กลางเมืองหลวงพระบางมีภูเขาลูกย่อม ๆ ลูกหนึ่งชื่อ ภูศรี บน
ยอดประดิษฐาน พระธาตุจอมภูศรี องค์พระธาตุเป็นสีทองผ่องอำไพ ถึงแม้พระธาตุองค์นี้มีอายุไม่น่าเกินหนึ่งศตวรรษ แต่ความโดดเด่นอร่ามเรืองที่สถิตอยู่สูงส่งเหนือสิ่งอื่นใดในหลวงพระบาง ผนวกกับตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุและรอยพระพุทธบาทก็เพียงพอที่
จะทำให้พระธาตุองค์นี้มีฐานะเป็นพระธาตุประจำเมืองในทำนองเดียวกับพระบรมธาตุดอยสุเทพแห่งเมืองเชียงใหม่
พระธาตุจอมภูศรี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท กษัตริย์องค์ที่ 56 แห่งอาณาจักรล้านช้าง ในปี พ.ศ.2247 บนยอดเขาเล็ก ๆ สูง 150 เมตร ต่อมาได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2457 องค์พระธาตุฉาบด้วยทองคำ นอกจากพระธาตุจอมภูศรีจะเป็นที่เคารพสักการะ
ของชาวหลวงพระบางแล้ว ข้างบนยังมีหอกลองซึ่งเคยใช้ตีบอกเวลาให้กับชาวหลวงพระบาง ห่างจากพระธาตุไม่ไกลนักบริเวณหน้าผาแคบเป็นที่ตั้งของปืนต่อสู้อากาศยานซึ่งยังหลงเหลือให้ดูเป็นอนุสรณ์ของสงครามอินโดจีน บริเวณรอบองค์พระธาตุสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของ
เมืองหลวงพระบางได้รอบด้าน
ตรงข้ามกับพระธาตุจอมภูศรีเป็นที่ตั้งของพระราชวังหลวงพระบาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2447 ในสมัยของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ออกแบบโดยนายช่างชาวฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการสร้างหลังคายอดปราสาทเพิ่มเติม ทำให้อาคารหลังนี้เป็นการผสมผสานอาคารแบบ
ฝรั่งเศสยุคอาณานิคมกับศิลปะล้านช้างได้อย่างกลมกลืนกัน
ในตัวเมืองหลวงพระบางผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้รถจักรยานเป็นพาหนะ ดังนั้นปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดก็ไม่ต้องพูดถึง มาหลวงพระบางต้องไปชมตลาดเช้า เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวแท้ ๆ แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสินค้าของใช้ทุกชนิดทั้งจากไทย อินโดจีน
ของป่าและสินค้าจากชาวบ้าน ที่ตลาดแห่งนี้แม้จะไม่คึกคักวุ่นวายเท่าเชียงใหม่บ้านเราแต่ก็คราคร่ำไปด้วยชาวลาวและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
 หลวงพระบางเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถเดินเที่ยวได้ในวันเดียว ทว่าในวันเดียวนั้นเราจึงสามารถพบเห็นเรื่องราวหลากหลายที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำได้แทบไม่พอ หากใครไม่เชื่อลองมาเยือนเมืองหลวงพระบางดู เมืองเล็กที่ไม่ธรรมดา หากแต่เป็นเมือง
ที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลไว้มากมาย
และจึงไม่น่าแปลกใจที่นครรัฐแห่งนี้ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ…
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น