31 มีนาคม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

31 มีนาคม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อราษฎรและแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 3

31 มีนาคม 2330 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” หรือ “วันเจษฎา” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าชายทับ” เป็น พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 ณ พระราชวังเดิมธนบุรี
 ครั้นเมื่อปี 2356 ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมพรรษาได้ 26 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม ทรงพระนามว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” โดยทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย
หลังจากนั้น เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งมาจากคำว่า ทับ ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงประทับอยู่เหนือหัวของประชาชนชาวไทยทุกคนนั่นเอง และสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 รวมพระชนมพรรษา 63 พรรษา กับ 11 วัน ทรงครองราชสมบัติประมาณ 27 ปี
 
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตลอดระยะเวลาที่รัชกาลที่ 3 ทรงครองราชสมบัติ ประมาณ 27 ปี ตั้งแต่ปี 2367-2394 พระองค์ทรงปกครองประเทศโดยทำนุบำรุงให้ชาติเข้มแข็งรุ่งเรือง โดยทรงมีส่วนร่วมกับขุนนางในการบริหารราชการ และทรงควบคุมกิจการบ้านเมืองด้วยพระองค์เองมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ และทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศชาติอย่างหลากหลายวิธี อาทิ การส่งสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้าและแรงงานเป็นการชำระด้วยเงินตรา รวมถึงมีการเก็บภาษีตั้งขึ้นใหม่ถึง 38 อย่าง เพื่อมิให้บังเกิดความขาดแคลนเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลก่อน ทั้งยังได้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศ สร้างกองทัพเรือ ขุดคูคลอง สร้างป้อมปราการเพื่อรักษาปากน้ำจุดสำคัญ ๆ ในขณะเดียวกันก็ทำนุบำรุงประเทศพร้อมกันไปด้วย
อย่างไรก็ดีครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตล่วงเลยมา 43 ปี พระองค์ยังโปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ คือ “เงินถุงแดง” ไว้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน และเงินจำนวนนี้สามารถใช้กอบกู้เอกราชในดินแดนบางส่วน และรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้ ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลจึงพร้อมใจกันประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หน้าวัดราชนัดดา ในปี 2541 โดยทางราชการมีการถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาเจษฎาราชเจ้า” และได้ใช้ชื่อวันงานใหม่ว่า “วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า”

ร่วมแสดงความคิดเห็น