ความทรงจำที่เวียดนาม “เว้ – ดานัง – ฮอยอัน”

ผมเชื่อว่านักเดินทางทั้งหลายกว่าค่อนครึ่ง ต้องมีเมืองท่องเที่ยวในอุดมคติไว้ในใจ หากไม่นับรวมเมืองหลวงพระบางของลาว นครรัฐเชียงตุงในพม่า เมืองเสียมราบแห่งเขมร ผมว่าเมืองเว้ อดีตราชธานีของเวียดนามก็เป็นหนึ่งในบรรดาเมืองท่องเที่ยวในอุดมคติของใครอีกหลายคน และในจำนวนอาจนับรวมผมเข้าไปด้วย

นับย้อนไปในอดีตกว่า 200 ปี ชื่อ “เวียดนาม” ปรากฏเป็นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ายาลอง หรือ องเชียงสือ ตามประวัติศาสตร์เวียดนามมีความสัมพันธ์อันยาวนานต่อจีน ซึ่งได้รับอิทธิพลทั้งด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ถัง เมืองนี้ได้รับเอกราชใหม่ภายใต้ชื่อ “อัน นาม” และมีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 8 ราชวงศ์
ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1776 – 1792 เมืองอัน นาม ถูกรุกรานโดยกบฏไต เซิน ซึ่งต่อมากองทัพฝรั่งเศสได้เข้ามาช่วยรบจนสามารถขับไล่พวกกบฏไต เซิน และรวบรวมดินแดนทั้งเหนือและใต้ให้เป็นปึกแผ่น พระเจ้ายาลองได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ มีราชธานีอยู่ที่เมืองเว้

นับต่อจากสมัยพระเจ้ายาลอง แห่งราชวงศ์เหวียน อาณาจักรเว้รุ่งเรืองและสวยงามที่สุดในเวียดนาม การต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมเริ่มรุนแรงขึ้นในปี ค.ศ.1861 เมื่อฝรั่งเศสยึดไซ่ง่อนและหัวเมืองทางตอนใต้ได้ทั้งหมด และถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “โคชิน ไชน่า” (Cochin China) และถูกรวมเข้าเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้าบุกยึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของเวียดนาม จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามจำต้องคืนอิสรภาพของเมืองชายฝั่งให้เวียดนามกลับคืนไป ขณะเดียวกันกองกำลังชาตินิยมของจีนก็รุกคืบเข้ามาทางเหนือ ส่วนทางภาคใต้ยังมีกองกำลังของฝรั่งเศสเข้าควบคุมอยู่ ในช่วงที่จีนโดยการนำของซุนยัตเซ็น แห่งพรรคก๊กมินตั๋งได้ก่อการปฏิวัติขึ้น ทางเวียดนามก็มีพรรคเวียดนาม กว๊อก เยิน ดั่ง ขึ้นต่อสู้กับฝรั่งเศส ช่วงเวลานี้มีบุคคลสำคัญหรือรัฐบุรุษท่านหนึ่งได้จรัสแสงขึ้นและเป็นขวัญใจของคนทั้งชาติ ท่านชื่อ “เหวียน ไอ กว๊อก” หรือทั่วโลกรู้จักท่านในนาม “โฮจิมินห์”

ปี ค.ศ.1945 หลังจากเวียดมินห์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ เข้ายึดฮานอยและสามารถควบคุมไซ่ง่อนได้แล้ว ท่านประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่เมืองฮานอย เดือนกันยายนในปีนั้น โฮจิมินห์ประกาศตั้งตนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ภายใต้ชื่อประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม หลายปีต่อมาสงครามในเวียดนามยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ กระทั่งปี ค.ศ.1968 กองทัพเวียด กง ได้บุกโจมตีพร้อมกันทั้งไซ่ง่อนและเวียดนามใต้ สร้างความเสียหายแก่กองทัพสหรัฐและฝรั่งเศส จนอีก 5 ปีต่อมาได้มีการเจรจาข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส สหรัฐยอมถอนทหารออกจากเวียดนาม เมื่อฝ่ายใต้ขาดกองกำลังสนับสนุน ทำให้กองทัพฝ่ายเหนือยาตราเข้าสู่ไซ่ง่อนเพื่อปลดแอกและสร้างเอกภาพ รวมชาติเวียดนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1975

แม้การประกาศรวมชาติอย่างเป็นทางการในปีถัดมา ก็ไม่อาจสร้างสันติสุขให้แก่คนในชาติ ซ้ำร้ายโครงสร้างระบบสังคมนิยมที่ดำเนินอยู่ ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดทางเศรษฐกิจ เกิดปัญหาคอรัปชั่น ข้าวยากหมากแพง เก็บภาษีราษฏรในอัตราที่สูง ทำให้ฝูงชนหลั่งไหลลี้ภัยออกนอกประเทศ จนเป็นที่มาของ Boat People หลายคนยอมเสี่ยงตายกลางทะเล ละทิ้งแผ่นดินเกิดไว้เบื้องหลัง คนระดับมันสมองของชาติถูกทำลายโอกาส เกิดความขัดแย้งขึ้นของคนในชาติ ในฮานอยประชาชนยอมทุบบ้านให้เหลือเพียงห้องเดียว เพียงเพื่อกันมิให้ผู้อื่นเข้ามาถือครองส่วนที่เหลือ ตามกฏหมายที่รัฐบาลประกาศใช้ ซึ่งปัจจุบันยังคงพบเห็นอาคารรูปทรงพาณิชย์ที่สร้างเพียงห้องเดียวแต่สูง 5 ชั้นในเมืองฮานาย

ภายหลังการประกาศนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว Three Countries One Destination โดยความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางต่อและแวะตามเมืองต่าง ๆ ทั้ง 3 ประเทศ ในรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวของเวียดนาม ปี ค.ศ.2007 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวเวียดนามกว่า 9 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าประเทศเวียดนามกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะความมีชื่อเสียงของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงามหลายแห่ง

ประเทศเวียดนามมีรูปร่างคล้ายตัวอักษร “S” มีชายฝั่งด้านตะวันออกติดทะเลทอดตัวยาวกว่า 1,600 กิโลเมตร ขนาบไปตามแนวยาวของคาบสมุทรอินโดจีน นอกจากนี้ยังไหล่เขาและหมู่เกาะต่าง ๆ อีกนับพันเกาะ เรียงรายตั้งแต่อ่าวตังเกี๋ยไปจนถึงอ่าวไทย เวียดนามมีการผสมผสานด้านวัฒนธรรมจากหลายชนชาติ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.432 เวียดนามตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากจักรพรรดิจีนนานกว่าพันปี ดังนั้นสิ่งก่อสร้าง อาหารการกิน จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของจีนมาก และยังมีความหลากหลายของผู้คนซึ่งเป็นชาวเขาหลากหลายชนเผ่าซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนามและเมื่อสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมบางส่วนจากฝรั่งเศส เช่น รูปทรงอาคารเป็นตึกสีเหลืองสไตล์โคโลเนียลมีให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างฮานอย

แหล่งท่องเที่ยวในเวียดนามนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่เวียดนามเหนือ กลาง ใต้ ได้แก่เมืองฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเวียดนามตั้งอยู่ทางเหนือ เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการค้าและอุตสาหกรรม เมืองดานัง – เมืองเว้ เป็นเมืองประวัติศาสตร์อยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ เป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

การได้เดินทางมาเยือน “เมืองเว้” อดีตราชธานีสำคัญของเวียดนามในครั้งนี้ จึงนับเป็นความทรงจำอันยากแก่การลืมเลือน

“ภูไม่สูง น้ำไม่ลึก ชายเหลี่ยมจัด หญิงเสน่ห์ร้อนแรง” คือคำจำกัดความที่คนเวียดนามมอบให้กับ “คนเว้” ด้วยภูมิประเทศของเว้เป็นทั้งเสน่ห์ชวนฉงน และเป็นจุดอ่อนโดยตัวมันเอง เพราะเว้มีด้านที่ติดทะเล ขณะเดียวกันก็มีที่ราบน้อยนิดอยู่ประชิดภูเขาจึงไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรและอุตสาหกรรม ทรัพยากรสำคัญอย่างเดียวที่เว้มีอยู่ก็คือ ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะเป็นเมืองแห่งทะเล ภูเขาและแม่น้ำที่งดงามแล้ว เว้ยังเต็มไปด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานที่ราชวงศ์เหวียนสร้างสมไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่คนเวียดนามรุ่นหลัง

เมืองเว้ เป็นอดีตหัวเมืองสำคัญที่อยู่ตอนกลางของประเทศ เคยเป็นราชธานีเก่าและเป็นเมืองของกษัตริย์ในราชวงศ์เหงียนนครแห่งประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและวิทยาการที่สำคัญที่สุด “เว้” เป็นเมืองมีเสน่ห์และคุณค่าด้านความงามตามธรรมชาติตั้งอยู่บนชายฝั่งแม่น้ำหอม เมืองนี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ พระราชวังหลวงของกษัตริย์ราชวงศ์เหวียน พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2348 ในสมัยยาลอง และได้รับการปฏิสังขรณ์อีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2377 และ พ.ศ.2467 เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์เหวียน 13 พระองค์ พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นมรดกตกทอดอันยิ่งใหญ่และงดงามแห่งนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นตามแบบแผนความเชื่อของจีน

เว้ เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ใจกลางเมืองเวียดนาม เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าตื่นตาของพระราชวัง สุสานของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหวียน ตลอดจนป้อมปราการที่ตั้งสง่างามอยู่ใจกลางเมือง แม้ว่าเมืองเว้จะได้รับความเสียหายจากพิษภัยของสงครามไปบ้าง แต่ก็ยังคงเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองสมกับเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม แม้ว่าความเก่าแก่จะไม่เท่ากับเมืองหลวงอย่างฮานอยที่มีอายุเก่าแก่กว่า 900 ปี แต่เมืองเว้กลับยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและโบราณสถานอันสง่างามไว้ได้อย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากชาวเวียดนามจะกล่าวว่า หากอยากรู้จักเวียดนามต้องมาเยือนเมืองนี้ โดยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอมที่ไหลผ่านกลางเมือง

วัดเทียนมู ถือเป็นวัดที่มีความสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญของเวียดนาม โดยสร้างบนเนินดินตามศิลปะแบบจีนลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยมสูง 21 เมตร ได้สร้างขึ้นตามความเชื่อพระพุทธศาสนามหายานศูนย์กลางนิกายเชนแห่งแรกของเว้ ภายในมีหอระฆังทรงหกเหลี่ยมที่มีน้ำหนักถึง 2,052 กิโลกรัม เชื่อกันว่าเมื่อตีระฆังแล้วเสียงจะดังไปไกลถึง 10 กิโลเมตร

ในบรรดาเมืองท่องเที่ยวของเวียดนามกลาง ดานังดูจะได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าเยี่ยมชมอย่างพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม หาดทรายขาวที่ขึ้นชื่ออย่างไบเบียนนอนเนื้อก และวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของภูเขาหินอ่อน สิ่งเหล่านี้เองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่งทุกมุมโลก จนทำให้อดีตหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้กลับกลายเป็นเมืองท่าที่น่าเยี่ยมชมที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม
เมืองเอกของจังหวัดกว่าง คือเมืองดานัง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำห่าน อยู่ระหว่างภาคกลางของประเทศเวียดนาม ห่างจากเมืองเว้ประมาณ 108 กิโลเมตร ดานังในอดีตเคยเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง แต่ภายหลังที่แม่น้ำทูโบนเริ่มตื้นเขิน ดานังจึงถูกพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าแทนที่ จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญ ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม

ในสมัยยุคอาณานิคม ฝรั่งเศสได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองดานังเมื่อปี พ.ศ.2401 ก่อนที่จะยึดเวียดนามเป็นอาณานิคมไว้ได้ในปี พ.ศ.2426 และในช่วงของสงครามเวียดนาม อเมริกาได้ใช้เมืองดานังเป็นฐานทัพอากาศในการโจมตีเวียดนามเหนือ เห็นได้จากร่องรอยของสงครามที่มีเหลืออยู่ เช่น โรงเก็บเครื่องบินเก่าของอเมริกันและสถานกงสุลเก่าของเอมริกันบนถนนแบ๊กดัง

ปัจจุบันดานังเป็นเมืองท่าที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยคุณลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน สะดวกต่อการคมนาคมขนส่ง มีสนามบินนานาชาติดานังไว้รองรับการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ อีกทั้งสถานที่องเที่ยวก็น่าสนใจหลายแห่ง

เมืองฮอยอัน คนเวียดนามออกเสียงเป็น “โฮยอาน” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากดานังมากนัก ประมาณ 40 กม. ฮอยอันเป็นเมืองท่าค้าขายเก่าแก่ ซึ่งมีความรุ่งเรื่องมากในอดีต ต่อมาเมื่อสายน้ำเปลี่ยนทิศทาง เกิดการตื้นเขิน
การค้าขายจึงมารุ่งเรืองที่ ดานังแทน

ฮอยอัน อยู่ห่างจากเมืองท่าดานังทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทูโบน ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้ามาตอนในระยะทางไม่กี่กิโลเมตร เมืองเก่าโบราณที่เต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งนี้ ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ฮอยอันปรากฏอยู่ในแวดวงของนักเดินทางตะวันตกในศตวรรษที่ 17 และ 18 แรกเริ่มเมืองฮอยอันเคยเป็นเมืองท่าชายทะเลในอาณาจักรจามปา เรียกกันในชื่อว่า “ได๋เจียน” โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ตราเกียว และมีศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่หมี่เซิน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากฮอยอันมากนัก

สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ศตวรรษที่ 19 ชื่อของฮอยอันได้รับการบันทึกลงในการเดินเรือของชาติตะวันตกในชื่อ ไฟโฟ หรือ ไฮโป และมีชาวต่างชาติเดินเรือเข้ามามากมาย จนฮอยอันกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก จนเข้าสู่ราวครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เมืองแห่งนี้ก็โดนเผาราบคาบจากการสู้รบช่วงกบฏไตเซินเหวียนอัน ภายหลังเมื่อเข้าสู่ยุคเริ่มต้นราชวงศ์เหวียน เมืองฮอยอันก็ได้รับการสร้างใหม่ ซึ่งเป็นต้นแบบของอาคารบ้านเรือนอายุสองร้อยกว่าปีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อเข้าสู่ปลายศตวรรษที่ 19 แม่น้ำทูโบนเริ่มตื้นเขิน เนื่องจากตะกอนโคลนเลนสะสมจนไม่อาจนำเรือใหญ่เข้ามาได้ เมืองดานังจึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นเมืองท่าแห่งใหม่แทนที่ฮอยอัน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองฮอยอันก็เริ่มลางเลือนไปตามกาลเวลา ทว่ายังคงเป็นเมืองค้าขายเล็ก ๆ จนถึงปี พ.ศ.2459 เส้นทางรถไฟระหว่างฮอยอันและดานังได้รับความเสียหายจากพายุและไมได้รับการซ่อมแซมให้ดีดังเดิม เมืองแห่งการค้าที่สำคัญซึ่งเคยต้อนรับชาวต่างชาติจึงยุบลง

ปี พ.ศ.2542 องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศให้ฮอยอันเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพราะความงดงามและเก่าแก่ของบ้านเมือง รวมทั้งเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนั่นทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังเมืองแห่งนี้ ประดุจน้ำในแม่น้ำทูโบนที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนไม่เคยเปลี่ยนแปลง

การเดินทางมาเยือนดินแดนมังกรแห่งจีนตอนใต้ ที่ชื่อ “เวียดนาม” นับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าเหลือคณานับ เพราะในอดีตดินแดนแห่งนี้เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสมรภูมิสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน ปัจจุบันได้พลิกโฉมกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ รอการพิสูจน์จากนักเดินทางให้เข้าไปสัมผัสถึงความงามแห่งศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติที่คงความบริสุทธิ์ วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ เหล่านี้คือเสน่ห์ของดินแดนมังกรแห่งจีนตอนใต้.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น